สงครามในยูเครนที่ดำเนินมาถึง 12 สัปดาห์แล้วนำมาซึ่งความเสียหายเป็นวงกว้างทั่วยูเครนและการสูญเสียของชีวิตผู้คน ซึ่งรวมถึง โรงเรียนที่ผู้คนใช้เป็นที่หลับภัยจากการโจมตีของกองทัพมอสโก โดยไม่มีสัญญาณว่า สถานการณ์ครั้งนี้จะยุติลงเมื่อไหร่ แม้ว่าจะมีการสอบสวนรัสเซียในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามแล้วก็ตาม
โรงเรียน School 21 ในเมืองเชอร์นิฮิฟ คือ หนึ่งในสถานที่ที่ผู้คนในยูเครนใช้เป็นสถานที่หลบภัยตั้งแต่เกิดการรุกรานขึ้น หลัง อินนา เลฟเชนโก ซึ่งเป็นครูที่โรงเรียนแห่งนี้มาราว 30 ปี ตัดสินใจเปิดรั้วให้คนในเมืองมาใช้ซ่อนตัวจากภัยการทิ้งระเบิดของรัสเซียที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้หลบภัยได้ช่วยกันเขียนคำว่า “เด็ก ๆ” ขนาดใหญ่ไว้ตามหน้าต่างอาคาร ด้วยความหวังว่า กองทัพรัสเซียจะไม่โจมตีตน
แต่เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา โรงเรียนแห่งนี้กลายมาเป็นเป้าการโจมตีจนได้
เลฟเชนโก คือ หนึ่งในผู้ได้รับบาดเจ็บ ก่อนจะได้รับความช่วยเหลือออกมาจากซากของอาคารโรงเรียน ในสภาพขาทั้งสองข้างที่หัก และเนื้อตัวเปรอะเปื้อนไปด้วยเลือด ขณะที่ กลุ่มควันหนาที่เกิดจากการที่ตัวโรงเรียนถูกระเบิดถล่มจนเหลือแต่ซากปกคลุมพื้นที่ไปทั่ว
เลฟเชนโก เล่าว่า ในเวลานั้น เธอไม่ทราบเลยว่า เด็ก ๆ 70 คนที่เธอสั่งให้ลงไปหลบภัยในชั้นใต้ดินนั้นปลอดภัยดีหรือไม่ จนกระทั่งหลังจากมีผู้เข้ามาช่วยเหลือและสรุปว่า มีผู้เสียชีวิตจากการโจมตีดังกล่าวอย่างน้อย 9 คน ซึ่งรวมถึงนักเรียนคนหนึ่งของเธอซึ่งเป็น เด็กชายวัย 13 ปี
คำถามที่เธอเปล่งออกมาก็คือ “ทำไมต้องเป็นโรงเรียน” เพราะเธอไม่เข้าใจมูลเหตุจูงใจของกองทัพรัสเซียที่ทำการดังกล่าวจนทำให้มีเพื่อน ๆ ของเธอหลายคนต้องจบชีวิตลง และเด็ก ๆ หลายคนต้องสูญเสียพ่อแม่ และต้องได้รับความบอบช้ำจากพิษสงครามครั้งนี้
เมื่อโรงเรียนกลายมาเป็นเป้าทิ้งระเบิด
รัฐบาลยูเครนเปิดเผยว่า รัสเซียได้ยิงโจมตีโรงเรียนกว่า 1,000 แห่ง โดย 95 แห่งถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง โดยเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา กองทัพมอสโกได้ยิงทำลายโรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองซาปอริซห์เซีย ซึ่งเป็นสถานที่หลบภัยเช่นเดียวกับโรงเรียน School 21 ในเมืองเชอร์นิฮิฟ โดยการโจมตีครั้งนี้เชื่อว่า น่าจะทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 60 คน
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การจงใจโจมตีโรงเรียนและอาคารโครงสร้างของพลเรือนนั้น ถือเป็น อาชญากรรมสงคราม และเศษซากความเสียหายเป็นวงกว้างทั่วยูเครน คือ หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงเจตนาของรัสเซีย ที่สามารถนำมาล้มล้างคำกล่าวอ้างว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ‘ลูกหลง’ ของสงครามได้เลย
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนหลายร้อยแห่งนั้น เป็นมากกว่าเรื่องของตัวอาคารที่พังทลายลงและการสูญเสียแขนขาของผู้คน สำหรับครูหรือผู้รอดชีวิตทั้งหลายจากเหตุความขัดแย้งในอดีตยูโกสลาเวีย ซีเรีย หรือประเทศอื่น ๆ เพราะเหตุที่เกิดขึ้นนั้นยังส่งผลถึงความสามารถของประเทศในการฟื้นตัวหลังการต่อสู้สิ้นสุดลง ทั้งยังจะทำให้คนทั้งยุคสมัยนั้น ๆ ต้องได้รับผลกระทบไปด้วยทั้งหมด และทำให้ความหวังของประเทศในการก้าวไปข้างหน้าล่มสลายลงไปด้วย
ในช่วงเกือบ 3 เดือนของสงครามยูเครนนี้ สารคดีชุด Frontline ที่เป็นผลงานการผลิตร่วมกันของสำนักข่าวเอพีและสถานีโทรทัศน์ พีบีเอส (PBS) ระบุว่า มีโรงเรียน 57 แห่งในยูเครนที่ถูกทำลายหรือได้รับความเสียหายหนักจนสามารถบ่งชี้ได้ว่า มีการก่ออาชญากรรมสงครามขึ้นจริงแล้ว
และในส่วนของเมืองเชอร์นิฮิฟนั้น สภาเมืองเปิดเผยว่า มีโรงเรียนเพียง 7 แห่งจากทั้งหมด 35 แห่งทั่วเมืองที่รอดพ้นจากการโจมตีของรัสเซียมาได้ ขณะที่ มี 3 แห่งที่ถูกทำลายจนเหลือแต่ซากไป
รายงานว่าด้วยอาชญากรรมสงครามกว่า 8,000 ฉบับ-ผู้ต้องสงสัย 500 คน
ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) รวมทั้ง อัยการจากทั่วโลกและอัยการสูงสุดของยูเครนกำลังดำเนินการตรวจสอบรายงานกว่า 8,000 ฉบับเกี่ยวกับความน่าจะเป็นของการก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน ที่มีผู้ต้องสงสัยถึงราว 500 คนอยู่ โดยส่วนใหญ่ถูกกล่าวหาว่า จงใจเลือกพื้นที่ของพลเรือน เช่น โรงพยาบาล ที่หลบภัย และชุมชนที่อยู่อาศัย เป็นเป้าการโจมตี
ทั้งนี้ การพุ่งเป้าโจมตีไปยังโรงเรียนนั้น คือ การกระทันอันเป็นภัยอย่างยิ่ง เพราะโรงเรียนคือพื้นที่สำหรับเด็ก ๆ จะใช้ในการเรียนรู้ เติบโต และหาเพื่อน แต่การโจมตีโดยตั้งใจนั้นกลับทำให้โรงเรียนกลายมาเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยอันตรายรุนแรงและเป็นแหล่งกำเนิดของความกลัวแทน
ครูหลายคนที่รอดชีวิตจากการโจมตีของรัสเซียในยูเครนเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังถึงประสบการณ์อันโหดร้ายและน่าเศร้าที่ตนต้องเผชิญในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการเสียชีวิตของเพื่อนครู นักเรียนและผู้คนรอบ ๆ ตัว รวมทั้งการที่โรงเรียนของพวกเขากลายมาเป็นจุลในชั่วพริบตา
แต่การพิสูจน์เจตนาของอาชญากรรมสงคราม คืองานหิน
แม้จะมีรายงานเกี่ยวกับการทำลายล้างและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนและสถานศึกษาในยูเครนมากมาย ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญากรรมสงครามยอมรับว่า การพิสูจน์ว่า กองทัพรัสเซียนั้นมีเจตนาพุ่งเป้าการโจมตีไปยังโรงเรียนแต่ละแห่งจริง ๆ เป็นเรื่องที่ยาก
เจ้าหน้าที่รัสเซียยืนยันมาโดยตลอดว่า กองทัพมอสโกไม่ได้ตั้งเป้าทำลายล้างพื้นที่พลเรือนทั้งหลาย ขณะที่ สื่อท้องถิ่นในเมือง กอร์ลอฟกา (Gorlovka) ที่รัสเซียยึดครองอยู่ รายงานว่า กองกำลังยูเครนที่พยายามยึดพื้นที่ของตนคืน คือ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุระเบิดที่ทำให้ครูที่นั่นเสียชีวิต 2 ราย
สิ่งที่ทำให้การสอบสวนคดีอาชญากรรมสงครามในกรณีการโจมตีพื้นที่พลเรือนมีความซับซ้อนก็คือ บางครั้ง พื้นที่และอาคารที่มีขนาดใหญ่ อย่างเช่น โรงเรียน ถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่ของกองทัพในช่วงเกิดสงครามด้วย
เดวิด บอสโก ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จาก มหาวิทยาลัยอินเดียนา กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์เช่นนั้น หากอาคารของพลเรือนแห่งใดก็ตามถูกนำมาใช้งานเพื่อจุดประสงค์ทางการทหาร การถูกวางเป็นเป้าโจมตีในช่วงสงครามก็เป็นสิ่งที่กระทำได้
ศาสตราจารย์ บอสโก กล่าวเสริมว่า หากสิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครนเป็นไปดังว่า การดำเนินคดีอาชญากรรมสงครามต่อรัสเซียก็จะต้องเน้นการพิสูจน์ว่า กองทัพมอสโกวางแผนยุทธศาสตร์ทางทหารที่เน้นการโจมตีโรงเรียนและอาคารของพลเรือนทั่วประเทศให้ได้ เพราะนั่นจะแสดงให้เห็นถึงนโยบายของรัสเซียที่ไม่แยกแยะว่า พื้นที่ใดเป็นพื้นที่ทางทหาร และพื้นที่ใดเป็นพื้นที่ของพลเรือน
ศาสตราจารย์ บอสโก ย้ำด้วยว่า “(โรงเรียน) คือ ที่ ๆ เด็ก ๆ ควรจะรู้สึกปลอดภัย เป็นเหมือนบ้านหลังที่ 2 ... ซึ่งการทำลายล้างพื้นที่ดังกล่าว ก็เป็นเหมือนการทำลายชนรุ่นต่อไป ซึ่งเป็นความสัจจริง และเป็นสิ่งที่มีผลกระทบอันใหญ่หลวง”
อินนา เลฟเชนโก คุณครูที่รอดชีวิตจากการโจมตีที่โรงเรียน School 21 ในเมืองเชอร์นิฮิฟ กล่าวว่า ความเสียหายทางด้านจิตใจของเด็กจำนวนมากที่เกิดจากความโหดร้ายของสงครามที่ยังดำเนินอยู่นี้และหลังจากได้ประจักษ์เห็นความทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสที่เกิดรอบ ๆ ตัวของพวกเขา อาจจะไม่สามารถเยียวยาให้เหมือนเก่าได้อีก
เลฟเชนโก ระบุว่า “คงจะต้องใช้เวลาอีกมากสำหรับผู้คนและเด็ก ๆ กว่าจะฟื้นตัวจากสิ่งที่ทุกคนได้ประสบมา” โดยเฉพาะพวกเด็ก ๆ ที่ “ต้องซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน ไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน และต้องอกสั่นขวัญแขวนจากเสียงไซเรนและความกลัว ... ประเด็นนี้มีผลกระทบด้านลบอันรุนแรง และเด็ก ๆ จะคงจำเรื่องนี้ไปตลอดชีวิต”
- ที่มา: วีโอเอ พีบีเอสและเอพี