ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์ศักยภาพ "เวียดนาม" กับการก้าวสู่ช่วงที่ 2 ของกระแสธุรกิจสตาร์ทอัพ


People work at the office of food-finder app Lozi in Hanoi, Vietnam, April 7, 2016. Vietnam's tech startups are emerging as a force to be reckoned with as foreign private equity funds bet the country's talented young brains will yield more successes.
People work at the office of food-finder app Lozi in Hanoi, Vietnam, April 7, 2016. Vietnam's tech startups are emerging as a force to be reckoned with as foreign private equity funds bet the country's talented young brains will yield more successes.

ปัจจุบัน การตั้งบริษัทแบบที่เรียกว่า Startups กำลังขยายไปทั่วโลก รวมทั้งในประเทศคอมนิวนิสต์อย่างเวียดนาม ซึ่งเวลานี้กำลังก้าวเข้าสู่ช่วงที่ 2 ของกระแสการตื่นตัวในธุรกิจ Startups

อาจกล่าวได้ว่า เวียดนามได้ผ่านกระแสความนิยมในธุรกิจสตาร์ทอัพช่วงที่ 1 มาแล้ว และกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงที่ 2 คือจากช่วงแรกของการพูดคุย นำเสนอไอเดียใหม่ๆ และพิจารณาศักยภาพที่มีภายในประเทศ มาเป็นช่วงของการลงทุนก่อตั้งธุรกิจให้เป็นรูปเป็นร่าง และสามารถตั้งตัวได้ ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงต่อไป คือการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ หรือหา “ทางลง” ให้กับธุรกิจของตน ด้วยการขายกิจการให้กับบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ต่อไป

โดยในช่วงเริ่มต้นนี้ ถือว่าเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพและทรัพยากรที่เหมาะสมต่อการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพ กล่าวคือ ประชากรเวียดนามมีทักษะด้านการอ่านเขียนและคณิตศาสตร์ในระดับสูง เหมาะสำหรับการสร้างกองทัพโปรแกรมเมอร์ขึ้นมา นอกจากนี้ยังมีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ พอๆ กับประเทศไทย และฟิลิปปินส์ รวมทั้งมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูง พอๆ กับ ลาวและกัมพูชา ขณะที่ต้นทุนอื่นๆ รวมทั้งอัตราค่าแรง ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้บริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่มีค่าใช้จ่ายไม่มากนัก

และเมื่อมีส่วนประกอบต่างๆ ที่เหมาะสมดังกล่าวแล้ว ขั้นต่อไปคือการลงมือเดินหน้าปลุกปั้นธุรกิจที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมสมัยใหม่ของเวียดนาม

คุณ แลม ตรัน ซีอีโอของบริษัทสตาร์ทอัพ WisePass กล่าวว่า ที่ผ่านมาเวียดนามยังใช้วิธีนำรูปแบบหรือแนวคิดที่ดีของต่างประเทศมาปรับใช้ในตลาดเวียดนาม โดยไม่มีการคิดค้นไอเดียใหม่ๆ แต่จากนี้ชาวเวียดนามจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิด

บริษัท WisePass คือผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นที่สามารถเชื่อมโยงผู้ใช้กับร้านอาหารหรือบาร์ต่างๆ เพื่อหาส่วนลดหรือโปรโมชั่นสำหรับร้านอาหารเหล่านั้น ซึ่งทางบริษัทมีแผนจะขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียนหลายประเทศในอนาคต

เพื่อสนับสนุนการก้าวไปสู่ช่วงที่สองของธุรกิจสตาร์ทอัพ องค์กร Vietnam Innovative Startup Accelerator (VIISA) ได้ลงทุนร่วมกับบริษัทสตาร์ทอัพของเวียดนาม 11 แห่ง ที่ผ่านช่วงแรกของธุรกิจสตาร์ทอัพมาแล้ว โดยบริษัทเหล่านี้ล้วนมีพันธมิตรทางธุรกิจอยู่ในต่างประเทศ เช่น ยูเครน เกาหลีใต้ และฝรั่งเศส

ขณะเดียวกัน รัฐบาลเวียดนามได้ออกกฎหมายใหม่เพื่อสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม ปีหน้า โดยกฎหมายใหม่นี้จะเน้นให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้งในด้านพื้นที่สำนักงาน อุปกรณ์ การฝึกอบรม และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ

คุณบัต ไช เหมา ผู้ก่อตั้ง MarketOi บริษัทสตาร์ทอัพที่ให้บริการมอเตอร์ไซค์เดลิเวอรี่เรียกผ่านแอพฯ ในนครโฮจิมินท์ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงที่สองของกระแสธุรกิจแบบสตาร์ทอัพ บอกว่า สิ่งสำคัญคือต้องหาความแตกต่างจากคนอื่น หรือ “คิดนอกกรอบ” และมีความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจ เพื่อรองรับการขยายตัวของสตาร์ทอัพในเวียดนาม

(ผู้สื่อข่าว Ha Nguyen รายงานจากนครโฮจิมินท์ / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)

XS
SM
MD
LG