ปัจจุบัน รัฐบาลเวียดนามกำลังพยายามกระจายบริการด้านการเงินแบบดิจิทัลออกไปในทุกพื้นที่ของประเทศ รวมทั้งในชนบทห่างไกล โดยมุ่งหวังให้เวียดนามกลายเป็นสังคมที่พึ่งพาเงินสดน้อยลง
เวลานี้ประชาชนทั่วเวียดนามต่างกำลังตื่นเต้นกับนโยบาย “การผนวกทางการเงิน” ของรัฐบาลกรุงฮานอย ซึ่งครอบคลุมถึงการกระจายบริการทางการเงินไปยังประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศผ่านยานพาหนะหลายแบบ และการลดการพึ่งพาเงินสด ด้วยการนำระบบจ่ายเงินดิจิทัลมาใช้มากขึ้น
ธนาคารหลายแห่งในเวียดนามต่างตอบรับกับนโยบายดังกล่าว ตัวอย่างเช่น VietIn Bank ได้ส่งกองทัพรถจักรยานยนต์ออกไปให้บริการลูกค้า โดยพนักงานจะมีคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตคนละเครื่องสำหรับทำธุรกรรมต่างๆ
ส่วนธนาคาร DongA ใช้วิธีนำตู้เอทีเอ็ม 4 ตู้ไว้ในรถตู้ แล้วขับไปจอดตามโรงงานต่างๆ เพื่อเข้าถึงคนงานตามโรงงานเหล่านั้น
รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าว่า ภายในปี ค.ศ. 2020 ชาวเวียดนามจะใช้เงินสดในธุรกรรมต่างๆ ลดลงเหลือเพียง 10% เท่านั้น โดย 70% ของการจ่ายค่าสาธารณูปโภคต่างๆ จะทำผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งสามารถทำได้ตามอุปกรณ์รับจ่ายเงินค่าน้ำค่าไฟอัตโนมัติ ที่ตั้งอยู่ตามร้านสะดวกซื้อ อย่างเช่น 7-11 จำนวนทั้งหมด 300,000 เครื่องทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า เงินสดจะยังไม่หายไปจากสังคมเวียดนามง่ายๆ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังคุ้นเคยกับการใช้เงินสดมากกว่าบัตรเครดิต
นักวิเคราะห์เชื่อว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของค่านิยมของคนเวียดนามเอง ที่มองว่าเงินดิจิทัล หรือตัวเลขที่เห็นในบัญชีหรือเช็คเงินสดนั้น มีคุณค่าไม่เท่ากับเงินสดจริงๆ ที่จับต้องได้ ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจบางแห่งในเวียดนามจึงยังใช้ระบบจ่ายค่าแรงพนักงานด้วยเงินสดเท่านั้น
ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับที่ทำให้บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลก อย่าง Uber หรือ Google ต้องยกเว้นให้เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถจ่ายเงินค่าบริการด้วยเงินสดได้
นอกจากนี้ ระบบเงินดิจิทัลยังคงมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ความรู้ความเข้าใจของประชาชนทั่วไปในการใช้ระบบจ่ายเงินออนไลน์ หรือ e-wallet เครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ยังไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ชนบทห่างไกล รวมทั้งยังมีความกังวลเรื่องการถูกลอบเจาะล้วงข้อมูลออนไลน์
ถึงกระนั้น รายงานของ Google และบริษัท Temasek ของสิงคโปร์ คาดการณ์ว่า ภายในปี ค.ศ. 2025 การซื้อขายสินค้าผ่านโลกออนไลน์ในเวียดนามจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 7,500 ล้านดอลลาร์ จากระดับไม่ถึง 1 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน
ซึ่งนั่นทำให้รัฐบาลเวียดนามต้องการปฏิรูปบริการสาธารณะทุกอย่างในเวียดนามให้เป็นระบบดิจิทัลทั้งหมด เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนี้
(ผู้สื่อข่าว Ha Nguyen รายงานจากนครโฮจิมินท์ซิตี้ / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)