เวียดนามจะขึ้นนั่งตำแหน่งประธานอาเซียนประจำปี พ.ศ. 2563 ท่ามกลางความท้าทายหลายประการ รวมทั้งการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในแถบทะเลจีนใต้
รัฐบาลเวียดนามจะเริ่มทำหน้าที่ประธานอาเซียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมนี้เป็นต้นไป และจะมีอำนาจในการกำหนดวาระการประชุมต่าง ๆ ของอาเซียนภายในปีหน้า
นักวิเคราะห์อาเซียนคาดว่า เวียดนามจะนำประเด็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ระหว่างจีนกับหลายประเทศในอาเซียน ขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในช่วงกลางปีหน้า และการประชุมระดับผู้นำในช่วงเดือนพฤศจิกายน
คุณตราน เหงียน ผอ.ศูนย์ต่างประเทศศึกษาที่ University of Social Sciences and Humanities ในนครโฮจิมินท์ ระบุว่า เวียดนามสามารถได้ประโยชน์จากจากการเป็นประธานอาเซียน ในการผลักดันประเด็นทะเลจีนใต้ให้เป็นวาระสำคัญอันดับต้น ๆ ในการประชุม ดังนั้นเชื่อว่าในปีหน้าเราจะได้ยินเรื่องเกี่ยวกับข้อพิพาทในทะเลจีนใต้มากขึ้นบนเวทีอาเซียน
นักวิเคราะห์ผู้นี้ชี้ว่า สิ่งแรกที่เวียดนามจะทำก็คือการสรา้งเอกภาพในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน ในเรื่องที่เกี่ยวกับจีนและผลประโยชน์ของอาเซียนเอง
ที่ผ่านมาเวียดนามคือประเทศที่มีท่าทีชัดเจนที่สุดในการต่อต้านการแผ่ขยายอิทธิพลทางทหารของจีนในทะเลจีนใต้ แต่ท่าทีโดยรวมของสมาคมอาเซียนยังคงนิ่งเฉยต่อประเด็นนี้ ซึ่งเป็นเพราะมีบางประเทศที่ต้องพึ่งพาจีนในด้านการค้าและเศรษฐกิจ
ในการประชุมอาเซียนครั้งที่แล้ว ที่ประชุมได้มีแถลงการณ์ขอให้เกิด "สันติภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคง" ในทะเลจีนใต้ แต่มิได้เรียกร้องให้มีการกระทำใด ๆ โดยเฉพาะเพื่อจัดการกับปัญหานี้ แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าการประชุมผู้นำอาเซียนในปี 2563 อาจจะแตกต่างออกไป
คอลลิน โก นักวิชาการด้านความปลอดภัยทางทะเล แห่งมหาวิทยาลัย Nanyang Technological ในสิงคโปร์ เชื่อว่า รัฐบาลจีนน่าจะมีความกังวลอยู่บ้างในเรื่องทะเลจีนใต้เมื่อเวียดนามได้ทำหน้าที่ประธานอาเซียน และอาจนำไปสู่การจัดการอุปสรรคต่าง ๆ ต่อการจัดทำ Code of Conduct หรือ "ระเบียบปฏิบัติว่าด้วยทะเลจีนใต้" ที่ติดขัดมานานหลายปี
ขณะที่คุณตราน เหงียน เชื่อว่าในที่สุดแล้ว เวียดนามอาจตัดสินใจร่วมมือกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ในภารกิจลาดตระเวณในทะเลจีนใต้ด้วย
อย่างไรก็ตาม อาจารย์คาร์ล เธเยอร์ แห่ง University of New South Wales ออสเตรเลีย ชี้ว่า สมาชิกอาเซียนบางประเทศที่สนับสนุนจุดยืนของจีน เช่น ลาว และกัมพูชา จะคอยทำหน้าที่สกัดกั้นไม่ให้อาเซียนมีแถลงการณ์ร่วมในเชิงตำหนิต่อต้านจีนในปีหน้า ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่เวียดนามจำเป็นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า บทบาทหน้าที่ในฐานะประธานอาเซียนนั้นแม้จะมีอำนาจทำอะไรได้หลายอย่าง แต่ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน
อาจารย์คาร์ล เธเยอร์ ยังเชื่อด้วยว่า จีนเองน่าจะเป็นฝ่ายเข้าหาเวียดนาม และอาจยินดีให้มีการจัดทำ Code of Conduct ในปี 2563 นี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหายุ่งยากอื่นตามมาในภายหลัง