ราวหนึ่งปีครึ่งหลังการเริ่มระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่โควิด-19 การแจกจ่ายวัคซีนทั่วโลกยังเป็นไปอย่างไม่ทัดเทียมและขาดความสมดุล เพราะขณะที่กลุ่มประเทศยากจนของโลกสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชากรเพียงแค่ 1% นั้น การกระจายวัคซีนทั่วโลกขณะนี้อยู่ที่ระดับ 25% และสหรัฐฯ เองก็สามารถฉีดวัคซีนให้กับประชากรได้ 55% แต่ก็ยังไม่เพียงพอ
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ปัญหาสำคัญของการแจกจ่ายวัคซีนอย่างทั่วถึงไปทั้งโลกเพื่อยุติการระบาดของโควิด-19 นั้น มาจากเหตุผลด้านเทคโนโลยีการผลิต สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา การขาดเงินทุนสนับสนุนอย่างเพียงพอ และเป้าหมายเรื่องการปกป้องคุ้มครองประชากรกลุ่มต่าง ๆ ของประเทศที่พัฒนาแล้ว
เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่โลกยังไม่มีคำตอบเรื่องวิธีรับมือกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 นั้น ประเทศที่ร่ำรวยผู้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี เช่น สหรัฐฯ และประเทศในยุโรป ได้ตัดสินใจทุ่มเงินเพื่อเร่งการวิจัยพัฒนา การทดลอง และการผลิตวัคซีนไปพร้อมกัน เพื่อให้เห็นผลได้อย่างรวดเร็ว อย่างเช่น แผนงาน Operation Warp Speed ในสหรัฐฯ เป็นต้น
โดยเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องยอมรับว่า เป้าหมายเดิมนั้นไม่ใช่เพื่อการแจกจ่ายวัคซีนไปทั่วโลกอย่างทั่วถึง แต่เป็นเพื่อการใช้ในประเทศก่อน และหลังจากที่การทดลองและการผลิตวัคซีนเริ่มเป็นผลสำเร็จ
ปัญหาบางอย่างที่ยังมีอยู่ เช่น การขาดเงินทุนของประเทศกำลังพัฒนาเพื่อเข้าถึงวัคซีน การเป็นเจ้าของเทคโนโลยี และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งเป้าหมายการจัดสรรวัคซีนให้กับประชากรกลุ่มต่าง ๆ ของประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีวัคซีนนั้นล้วนทำให้กระบวนการและจำนวนของการจัดสรรวัคซีนไปทั่วโลกยังขาดความทั่วถึงและทัดเทียมในขณะนี้
คุณ Strive Masiyiwa ตัวแทนพิเศษของกลุ่มสหภาพแอฟริกันเพื่อการจัดหาวัคซีน ได้กล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่า สภาพการณ์ในขณะนี้เหมือนกับช่วงที่โลกกำลังประสบปัญหาการระบาดของเชื้อเอชไอวี เพราะประชากรของประเทศกำลังพัฒนาขณะนั้นไม่มีโอกาสเข้าถึงยาต้านเอดส์จนกระทั่งแปดปีให้หลัง
และถึงแม้ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลกจะเคยประเมินแผนความพร้อมเพื่อรับมือกับโรคระบาดใหญ่ และจัดให้สหรัฐฯ สหภาพยุโรปกับอินเดียอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความพร้อมสูงก็ตาม แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้นจริง ก็เห็นได้ชัดว่า การประเมินที่ว่านี้เป็นไปในทางบวกมากเกินไป
แม้กระทั่งโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลกซึ่งอาศัยสถาบัน Serum Institute of India ของอินเดียเป็นผู้ผลิตวัคซีนป้อนรายสำคัญ ปัญหาที่เกิดขึ้นในอินเดียก็ทำให้การส่งออกวัคซีนไม่เป็นตามเป้า
และถึงแม้โครงการ COVAX เพื่อการเข้าถึงวัคซีนทั่วโลกนี้จะได้รับความสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก จากกลุ่มพันธมิตรวัคซีน Gavi และจากมูลนิธิ Gates Foundation ก็ตาม แต่นอกจากเจตนาที่ดีแล้ว สิ่งที่แผนงานนี้ยังขาดอยู่อย่างแท้จริง คือเงินบริจาคจากประเทศที่พัฒนาซึ่งมีเพียงคำมั่นสัญญาเท่านั้นเอง
นอกจากเรื่องการขาดเงินทุนเพื่อจัดหาและแจกจ่ายวัคซีนให้กับประเทศที่ยากจนทั่วโลกผ่านโครงการ COVAX แล้ว ความพยายามของประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศก่อนหน้านี้เพื่อผลักดันให้มีการถ่ายโอนเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนก็ไม่มีผลคืบหน้าอะไรด้วย
เพราะสำหรับวงการเภสัชกรรมในประเทศเจ้าของวัคซีน เทคโนโลยี mRNA เป็นเหมือนหัวใจสำคัญซึ่งเป็นคำตอบของการรับมือกับโควิด-19 ในขณะนี้ และเป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมดังกล่าวหวงแหนด้วย
ท้ายสุด ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ยังได้ประกาศนโยบายอย่างชัดเจนว่า เป้าหมายสำคัญขณะนี้คือการกระจายวัคซีนให้กับประชากรกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและเด็ก ก่อนที่จะแจกจ่ายในวงกว้างให้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกด้วย
ประเด็นและปัจจัยสลับซับซ้อนต่าง ๆ ที่คาบเกี่ยวกันระหว่างเรื่องเทคโนโลยีและความมั่นคงด้านสาธารณสุขของแต่ละประเทศ กับโอกาสที่จะรับมือและควบคุมการระบาดใหญ่ทั่วโลกนี้ ได้ทำให้แพทย์หญิง Ingrid Katz นักวิจัยของ Center for Global Health ที่โรงพยาบาล Massachusetts General ชี้ว่า คำถามที่สำคัญขณะนี้ก็คือวัคซีนโควิด-19 นั้นคือสินค้าหรือเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน
และว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกขณะนี้ คือการที่คนจำนวนน้อยผู้มีฐานะร่ำรวยมีอำนาจผูกขาดการตัดสินใจซึ่งกำหนดเรื่องความเป็นและความตายของผู้คน และในแต่ละวันแต่ละเดือนที่ผ่านไป ปัญหาการขาดแคลนวัคซีนก็ทำให้เรายิ่งถอยห่างจากเป้าหมายที่ต้องการมากขึ้นด้วย
(ที่มา: AP)