ผู้นำเขตเศรษฐกิจ 21 แห่งที่เป็นสมาชิกความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) เข้าร่วมการประชุมอย่างไม่เป็นทางการแบบออนไลน์ที่มีนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพในวันศุกร์ มีมติที่จะเร่งเดินหน้าการผลิตและแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 เพื่อควบคุมการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัสให้ได้
แถลงการณ์ที่ประชุมที่ออกมาอย่างเป็นทางการระบุว่า ผู้นำของทุกเขตเศรษฐกิจสมาชิกยืนยันที่จะเพิ่มสรรพกำลังและความสามารถในการเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนให้แก่ประชาชนพร้อมๆ กับการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตราบเท่าที่จำเป็น
การประชุมครั้งนี้ที่มีผู้นำมหาอำนาจ เช่น ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน เข้าร่วม ยังได้ตกลงที่จะสนับสนุนการถ่ายโอนเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโดยสมัครใจ “ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นที่ยอมรับ” ของผู้มอบและผู้ส่งมอบ ขณะที่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกเริ่มเตรียมความพร้อมรับมือกับวิกฤตสาธารณสุขอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ภายหลังการประชุมทำเนียบขาวได้เปิดเผยสารของปธน.ไบเดน ซึ่งระบุว่า ผู้นำสหรัฐฯ ยินดีที่ได้ร่วมทำงานโดยตรงกับผู้นำเอเปค พร้อมยืนยันจุดยืนของสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมทั้งความร่วมมือต่างๆ ในระดับพหุภาคี รวมทั้งยังย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลกรุงวอชิงตันที่จะผลักดันแนวคิดอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างด้วย
ในส่วนของประเด็นวิกฤตโควิดนั้น ปธน.ไบเดน ยืนยันว่า สหรัฐฯ ทำการบริจาค ไม่ใช่การขาย วัคซีนโควิด-19 จำนวนกว่า 500 ล้านโดสให้แก่ 100 กว่าประเทศทั่วโลก โดยหลายประเทศผู้รับนั้นเป็นสมาชิกเอเปคด้วย ทั้งยังได้ยกประเด็นความสำคัญของการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขโลกและการเตรียมความพร้อมต่างๆ หากเกิดการระบาดใหญ่ครั้งใหม่ในอนาคต ขึ้นมาหารือกับผู้นำเอเปคอื่นๆ ด้วย
สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า ที่ประชุมผู้นำเอเปคยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในหลายพื้นที่ประเทศสมาชิก โดยเฉพาะ ประเทศไทย มาเลเซีย และออสเตรเลีย ที่กำลังรับมือกับการระบาดใหญ่ระลอกใหม่อยู่
ขณะเดียวกัน รายงานจากเว็บไซต์ไทยคู่ฟ้า ระบุว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยที่เข้าร่วมประชุมเอเปคด้วยนั้น ได้ นำสนับสนุนแนวทางการส่งเสริมการเข้าถึงและการกระจายวัคซีนที่ปลอดภัยแก่ประชาชนอย่างเป็นธรรมและรวดเร็ว รวมทั้งเสนอให้มีการให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้การบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อให้ผู้คนใช้ชีวิตอยู่กับไวรัสในระดับที่ควบคุมได้ พร้อมๆ กับการออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย เป็นต้น