ขณะนี้ที่ทำการรัฐหลายแห่งในอเมริกาไม่สามารถเปิดทำการได้ เพราะไม่มีเงินงบประมาณมาสนับสนุน จากเหตุทางตันทางการเมืองที่พรรคเดโมเเครตและรีพับลิกันขัดแย้งกันเรื่องการสร้างกำแพงกั้นสหรัฐฯ และเม็กซิโก
สัญญาณล่าสุดระหว่างผู้นำเดโมเเครต ส.ส. แนนซี พีโลซี ประธานสภาสภาผู้แทนราษฎร และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งพรรครีพับลิกันกลับชี้ให้เห็นถึงความขัดเเย้งต่อเนื่อง
ทางตันทางการเมืองในสหรัฐฯ นี้ เกิดขึ้นพร้อมๆ กับวิกฤตการเมืองในอังกฤษ จากการที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติล้มแผนนำอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit อย่างท่วมท้นในสัปดาห์นี้
นักวิเคราะห์การเมือง คลอส ลาร์เรส (Klaus Larres) ให้สัมภาษณ์วีโอเอผ่าน Skype ว่าวิกฤตการเมืองของอังกฤษและอเมริกาเกิดขึ้นภายใต้ปัจจัยที่คล้ายกัน นั่นก็คือ "โครงการประชานิยม"
เขาบอกว่า อังกฤษจัดการลงประชามติเรื่องการออกจากสหภาพยุโรปเมื่อกลางปี ค.ศ. 2016 และปลายปีเดียวกัน โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลังจากการหาเสียงด้วยนโยบายสร้างกำแพงเพื่อจัดการกับปัญหาคนเข้าเมืองผิดกฎหมายจากเม็กซิโก
นักวิเคราะห์ผู้นี้กล่าวด้วยว่า ทรัมป์ และ นายไนเจิล ฟาราจ (Nigel Farage) นักการเมืองแกนนำการรณรงค์ให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ต่างสนับสนุนกันและกันอย่างเปิดเผย
เขากล่าวว่า ทั้งคู่นำเสนอนโยบายที่ว่าด้วย “ความกลัวการถดถอยของเศรษฐกิจ กลัวคนต่างชาติ กลัวผู้อพยพ และกลัวความสูญเสียอัตลักษณ์ของคนในชาติ”
คลอส ลาร์เรส กล่าวด้วยว่า ประธานาธิบดีปูติน อาจไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากวิกฤตที่รุมเร้าทั้งอังกฤษและสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเป็นเสาหลักของโลกตะวันตก
อย่างไรก็ตาม ความสั่นคลอนที่เกิดขึ้นอาจบั่นบอนอำนาจและการทำงานอย่างเป็นเนื้อเดียวกันของชาติตะวันตก และนั่นไม่ใช่ข่าวดีของประเทศที่เป็นเพื่อนกับอังกฤษและอเมริกา
นักวิเคราะห์ผู้นี้คาดการณ์ว่า หน่วยงานรัฐในอเมริกาอาจกลับมาเปิดอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสถานการณ์เริ่มมีผลลามไปกระทบกับเศรษฐกิจ
และสำหรับอังกฤษ คลอส ลาร์เรส ประเมินว่า อาจต้องมีการจัดทำประชามติว่าคนอังกฤษต้องการออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่อีกครั้ง เเต่ในครั้งนี้ คนคงจะทราบถึงผลกระทบของ Brexit มากขึ้นกว่าเมื่อ 3 ปีก่อน
(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Zlatica Hoke)