สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษลงมติ ปฏิเสธแผนนำอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปหรือ Brexit ของนายกรัฐมนตรีเธเรซา เมย์ ด้วยเสียงต่อต้านอย่างท่วมท้น 432 เสียง โดยมีผู้สนับสนุนในสภาเพียง 202 เสียง
ผลการลงมตินี้ในวันอังคาร สร้างความไม่แน่นนอนให้กับเงื่อนเวลาการหมดความเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษ วันที่ 29 มีนาคม ตามที่วางแผนไว้
ผู้นำพรรคเเรงงานซึ่งเป็นฝ่ายค้าน นายเจอรามี คอร์บิน (Jeremy Corbin) กล่าวว่าผลลัพธ์ของการลงมติในสภาเป็นความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับของพรรคอนุรักษ์นิยม ที่นายกรัฐมนตรีเมย์สังกัดอยู่
เขาเรียกร้องให้มีการลงมติไม่ไว้วางใจเธอ ในวันพุธ จากการที่รัฐบาล "ขาดความสามารถอย่างใหญ่หลวง"
ก่อนหน้านี้ เป็นที่คาดหมายอยู่แล้วว่าแผน Brexit ของนายกรัฐมนตรีเมย์จะถูกปฏิเสธโดยสภา แต่ยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าเส้นทางต่อจากนี้ในการนำพาอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป หรืออียูจะเป็นเช่นไรต่อไป
เธอได้เคยเตือนสมาชิกสภาแล้วว่า อียูจะไม่ตอบรับข้อเสนอทางเลือกอื่นๆ
หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญของแผน Brexit โดยเธเรซา เมย์คือการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการขีดพรมแดนทางกายภาพระหว่างไอร์เเลนด์ ซึ่งเป็นสมาชิกอียู กับไอร์เเลนด์เหนือ ซึ่งเปรียบได้กับจังหวัดหนึ่งของอังกฤษ
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอังกฤษต้องการหลีกเลี่ยงการกลับมาใช้มาตรการศุลกากรและตรวจคนเข้าเมืองที่พรมแดนไอร์แลนด์และไอร์แลนด์เหนือ หากว่าอักฤษและอียูไม่สามารถมีข้อตกลงการค้าเสรีร่วมกัน ในระยะเวลา 21 เดือนแห่งการเปลี่ยนผ่านสถานะความเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษ
นอกจากนี้ แผนของนายกรัฐมนตรีเมย์ มุ่งที่จะรักษาสิทธิ์ของผู้เป็นประชาชนประเทศในสหภาพยุโรป กว่า 3 ล้านคน ในอังกฤษ และชาวอังกฤษ 1 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในกลุ่มอียู และภายใต้แนวทางของเธอ อังกฤษต้องจ่ายเงิน 5 หมื่น 1 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสรุปความรับผิดชอบทางการเงินกับอียู
ต่อไปจากนี้ อาจมีการแก้ไขร่าง Brexit หรืออาจจะต้องจัดการลงประชามติใหม่ว่าประชาชนอังกฤษต้องการให้ประเทศออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือไม่อีกครั้ง หลังจากที่ดำเนินการไปแล้วเมื่อกว่า 2 ปีที่แล้ว ที่ผลลัพธ์ก็คือ คนส่วนมากต้องการให้เกิด Brexit
ทั้งนี้นายกฯ เมย์ มีเวลาถึงวันจันทร์หน้าที่จะเสนอร่ายแผน Brexit ฉบับใหม่ เพื่อการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง