ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักกฎหมายร่วมถกคำถามสำคัญ "ปธน.สหรัฐฯ ถูกฟ้องข้อหาขัดขวางกระบวนการยุติธรรมได้หรือไม่?"


Protesters rally outside a Trump hotel to call for the impeachment of President Trump, July 2, 2017, in New York.
Protesters rally outside a Trump hotel to call for the impeachment of President Trump, July 2, 2017, in New York.

ขณะที่กำลังมีสัญญาณว่า นายโรเบิร์ต มุลเลอร์ อัยการอิสระผู้สืบสวนเรื่องการแทรกแซงของรัสเซียต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจกำลังหาทางกล่าวหา ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าพยายามขัดขวางกระบวนการยุติธรรม แต่หนึ่งในทนายความของ ปธน.ทรัมป์ ได้ออกมาเสนอแนวคิดที่ว่า ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายของประเทศ ปธน.ทรัมป์ ไม่สามารถถูกฟ้องในข้อหาขัดขวางกระบวนการยุติธรรมได้

ข้อกล่าวหาว่า ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ พยายามขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้งในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อ ปธน.ทรัมป์ ระบุในทวิตเตอร์ว่า อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ พลโท ไมเคิล ฟลินน์ ถูกตนไล่ออก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาโกหกต่อ FBI

โดยก่อนหน้านี้ ปธน.ทรัมป์ เคยกล่าวว่า ตนได้ปลดอดีต ผอ.FBI นายเจมส์ โคมมีย์ ออกจากตำแหน่ง ขณะที่นายโคมมีย์กำลังสืบสวนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคณะหาเสียงของทรัมป์กับรัสเซีย

นั่นหมายความว่า หากทรัมป์ทราบอยู่แล้วว่าฟลินน์ทำผิดกฎหมายด้วยการโกหกต่อ FBI ตั้งแต่ตอนที่ไล่นายโคมมีย์ออกเมื่อเดือนธันวาคม การกระทำของ ปธน.ทรัมป์ อาจเข้าข่ายขัดขวางกระบวนการยุติธรรม

ต่อมาในวันจันทร์ ดูเหมือน จอห์น ดาวด์ ทนายความของทรัมป์ ได้พยายามออกมาปกป้อง ปธน.ทรัมป์ ล่วงหน้า ด้วยการระบุว่า ปธน.สหรัฐฯ ไม่สามารถขัดขวางกระบวนการยุติธรรม เพราะภายใต้รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ประธานาธิบดีอยู่ในสถานะประธานเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายของประเทศ รวมถึงมีอำนาจตามกฎหมายในการสั่งสอบสวน หรืออภัยโทษให้กับผู้กระทำผิดกฎหมายได้ แม้ว่าในความเป็นจริงนั้น ปธน.สหรัฐฯ มักเลี่ยงที่จะใช้อำนาจแทรกแซงในส่วนนี้

อย่างไรก็ตาม ขอบเขตอำนาจทางกฎหมายของ ปธน.สหรัฐฯ ก็มีจำกัดเช่นกัน เช่น กฎหมายเกี่ยวกับกับการลงโทษผู้กระทำผิดในข้อหาขัดขวางกระบวนการยุติธรรมนั้น มิได้ยกเว้นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เอาไว้ นั่นหมายความว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สามารถถูกดำเนินคดีในข้อหานี้ได้ หากมีหลักฐานที่บ่งชี้ถึงการทุจริตคอรัปชั่น หรือรับสินบน

ศาสตราจารย์ จอห์น คัลเฮน แห่ง Delaware Law School ชี้ว่า หากพบว่าประธานาธิบดีคอรัปชั่นหรือติดสินบนเพื่อให้หยุดการสืบสวนใดๆ จริง นั่นถือว่าเป็นการขัดขวางกระบวนการยุติธรรม

ส่วนศาสตราจารย์ อลัน เดอร์โชวิทช์ แห่ง Harvard Law School ซึ่งมักออกมากล่าวปกป้องนโยบายของทรัมป์หลายครั้งก่อนหน้านี้ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า ปธน.สหรัฐฯ นั้นไม่สามารถถูกฟ้องในข้อหาขัดขวางกระบวนการยุติธรรม หรืออยู่เหนือกฎหมาย เพราะตนเชื่อว่ากรณีเดียวที่ประธานาธิบดีจะรอดพ้นจากการถูกฟ้องดำเนินคดีได้ คือ เป็นการกระทำที่ได้รับอนุญาตตามรัฐธรรมนูญ

ขณะที่คุณแอนดรูว์ แมคคาร์ธีย์ นักวิชาการแห่ง National Review Institute ระบุว่าในกรณีของ ปธน.ทรัมป์ หากจะถูกฟ้องว่าขัดขวางกระบวยนการยุติธรรม ผู้สืบสวนจะต้องสามารถพิสูจน์ให้ได้ว่า ปธน.ทรัมป์ ตั้งใจทุจริตคอรัปชั่นเพื่อยุติการสืบสวนของ FBI ในเรื่องที่ว่า พลโทฟลินน์ ได้ติดต่อกับรัสเซียจริงหรือไม่ ไม่ใช่แค่ใช้มูลเหตุจากแรงจูงใจในการไล่นายโคมมีย์ อดีต ผอ.FBI ออกจากตำแหน่ง

ที่ผ่านมา ไม่เคยมี ปธน.สหรัฐฯ คนไหนที่เคยถูกตัดสินว่ามีความผิดในกรณีที่ว่านี้มาก่อน และนักวิชาการส่วนใหญ่ต่างลงความเห็นว่า ปธน.สหรัฐฯ ไม่สามารถถูกฟ้องดำเนินคดีได้ระหว่างการดำรงตำแหน่ง

แต่ในที่สุดแล้ว การตัดสินว่า ปธน.มีความผิดหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับรัฐสภาสหรัฐฯ เนื่องจากรัฐธรรมนูญอนุญาตให้รัฐสภาสามารถยื่นญัตติเพื่อขับ ปธน.ออกจากตำแหน่งได้ หาก ปธน.กระทำผิดร้ายแรงหรือพิสูจน์ได้ว่าทุจริตคอรัปชั่นจริง

ซึ่งในอดีตก็เคยมีการยื่นญัตติในลักษณะนี้มาแล้ว คือในสมัย ปธน.ริชาร์ด นิกสัน เมื่อปี ค.ศ. 1974 และสมัย ปธน.บิล คลินตัน เมื่อปี ค.ศ. 1998

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหลายคนต่างไม่เชื่อว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับ ปธน.ทรัมป์ ในขณะนี้ จะไปไกลถึงขั้นถูกฟ้องในข้อหาขัดขวางกระบวนการยุติธรรม

(ผู้สื่อข่าว Masood Farivar รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)

XS
SM
MD
LG