ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศยอมรับเมืองเยรูซาเล็มให้เป็นเมืองหลวงของอิสราเอล และให้สถานทูตสหรัฐฯ ย้ายจากนครเทล อาวีฟ มาอยู่ที่เยรูซาเล็มแทน การตัดสินใจนี้ทวนกระแสนโยบายของสหรัฐฯ ที่มีมาหลายสิบปี ที่พยายามรักษาสมดุลในจุดยืนของสหรัฐฯ เรื่องตะวันออกกลาง
คำถามที่หลายคนสงสัยคือ เหตุใดการยอมรับเยรูซาเล็มให้เป็นเมืองหลวงจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา?
เหตุผลประการหลักคือ เยรูซาเล็ม เป็นจุดรวมของสามศาสนาคือ คริสต์ อิสลามและ Judaism หรือยิว เขตย่อยของนครแห่งนี้มีชุมชนและศาสนสถานประวัติศาสตร์ของทั้งสามศาสนา หลายทศวรรษที่ผ่านมา ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและชาติอาหรับอื่นๆ สะท้อนในบรรยากาศทางสังคมและประเด็นการยอมรับสถานะของดินแดนศูนย์รวมศรัทธาของสามศาสนาแห่งนี้
เขตด้านตะวันออกของเยรูซาเล็ม ยังเป็นจุดความขัดแย้งที่ยาวนานระหว่างชาวปาเลสไตน์ ผู้นับถือศาสนาอิสลาม และฝ่ายอิสราเอลอีกด้วย
ดังนั้นที่ผ่านมา ชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ จึงดำเนินนโยบายด้วยความระมัดระวัง เพราะการประกาศยอมรับให้เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล อาจมีแรงสั่นสะเทือนถึงมิตรภาพระหว่างอเมริกากับชาติอาหรับอื่นๆ ที่ผู้นำสหรัฐฯ หลายสมัยร่วมสร้างขึ้นมา
ประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวว่า ผู้นำสหรัฐฯ คนก่อนๆ เคยให้สัญญาเรื่องนี้ตอนหาเสียง แต่ทำกันไม่สำเร็จ แต่วันนี้ตนเป็นผู้ทำได้ และทำเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ และเพื่อการสร้างสันติสุขระหว่างชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์
ผู้นำสหรัฐฯ พยายามเน้นว่า คำประกาศของตนนี้เป็นเพียงการยอมรับความเป็นจริงเท่านั้น เพราะเยรูซาเล็มเป็นเมืองที่ตั้งของสถานที่ราชการของอิสราเอล และการแสดงจุดยืนชัดเจนของสหรัฐฯ ครั้งนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติ Jerusalem Embassy Act ที่จะนำมาซึ่งการย้ายสถานทูตสหรัฐฯ ประจำอิสราเอลจาก เทล อาวีฟ มาอยู่ที่ เยรูซาเล็ม ด้วย
ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า ตนไม่ต้องการเปลี่ยนความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ที่ต้องการเห็นสันติภาพในบริเวณดังกล่าว และให้ความเคารพผู้นับถือศาสนาทุกศาสนาในดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ และว่า ตนขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายรักษาสภาพเดิมที่เป็นอยู่ตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในเยรูซาเล็ม รวมถึง Temple Mount หรือ Haram al-Sharif
ด้านนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล กล่าวเรียกร้องขณะกล่าวแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊กให้ประเทศต่างๆ ย้ายสถานทูตมาที่เยรูซาเล็ม โดยบอกว่าตนมีจุดยืนร่วมกับประธานาธิบดีทรัมป์ เรื่องการสร้างสันติภาพในดินแดนแห่งนี้ และไม่ต้องการเปลี่ยนสถานภาพของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในกรุงเยรูซาเล็ม
เสียงต่อต้านที่ชัดเจนมาจากประธานาธิบดี มาห์มุด อับบาส ของปาเลสไตน์ เขากล่าว่าคำประกาศของประธานาธิบดีทรัมป์ เปรียบเหมือนการที่สหรัฐฯ ล้มเลิกบทบาทการเป็นผู้เจรจาสันติภาพ
ประธานาธิบดีเรจิบ เทยิบ เออโดวาน ของตุรกี กล่าวว่า การย้ายสถานทูตอเมริกันมาที่เยรูซาเล็ม เปรียบเหมือนการทิ้งระเบิดลงสู่พื้นฐานแห่งสันติภาพ
ผู้นำโลกอาหรับคนอื่นๆ เช่น กษัตริย์อับดุลลาห์แห่งจอร์แดน กล่าวว่า การเพิกเฉยต่อสิทธิของชาวปาเลสไตน์และชาวคริสต์ในเยรูซาเล็ม จะเติมเชื้อไฟให้แก่ความคิดสุดโต่ง
ท้ายสุด แอรอน เดวิด มิลเลอร์ อดีตที่ปรึกษาด้านนโยบายตะวันออกกลางให้กับทั้งฝ่ายรีพับลิกันและเดโมแครต และเป็นผู้ยริหารของสถาบัน Woodrow Wilson International Center for Scholars กล่าวว่า การตัดสินใจของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในครั้งนี้ เป็นตัวอย่างกรณีศึกษาของการจุดไฟแห่งความโกรธแค้นในโลกมุสลิม
(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Peter Heinlein)