สำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ หรือ ซีไอเอ (CIA) ปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในบางอย่างขององค์กร ด้วยการจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการด้านจีน” (China Mission Center) เพื่อตอบโต้ต่อนโยบายที่เป็นปรปักษ์ของรัฐบาลกรุงปักกิ่ง
ผู้อำนวยการซีไอเอ วิลเลียม เบิร์นส ประกาศการจัดตั้งศูนย์แห่งใหม่ในวันพฤหัสบดี โดยระบุว่า รัฐบาลจีนคือ “ภัยคุกคามด้านภูมิศาสตร์การเมืองที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 21” และว่า ซีไอเอจะเป็นด่านหน้าในการรับมือบททดสอบที่ท้าทายที่สุดในยุคสมัยใหม่นี้ เหมือนที่ทำมาตลอดในประวัติศาสตร์อเมริกา
นอกจากศูนย์ปฏิบัติการด้านจีนแล้ว ซีไอเอยังประกาศจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการข้ามชาติและเทคโนโลยี” (Transnational and Technology Mission Center) รวมทั้งเพิ่มตำแหน่งใหม่ คือ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยี หรือ chief technology officer เพื่อรับหน้าที่จัดการประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการแข่งขันระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ ความมั่นคงปลอดภัยทางเศรษฐกิจ สาธารณสุขโลก และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ ซีไอเอยังเปิดตัวโครงการใหม่ชื่อว่า Technology Fellows Program ซึ่งจะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติให้มาทำงานกับซีไอเอเป็นเวลา 1-2 ปีด้วย
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ผอ.ซีไอเอ กล่าวกับคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาสหรัฐฯ เพื่อยืนยันการเข้ารับตำแหน่งว่า “การแข่งขันกับจีนจะเป็นกุญแจสำคัญต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ในช่วงหลายทศวรรษจากนี้” และกล่าวด้วยว่า ผู้นำจีนในปัจจุบันเป็นทั้ง “ศัตรู” และ “ผู้ล่า”
นายเบิร์นส กล่าวด้วยว่า วิวัฒนาการของจีนในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นสัญญาณเตือนภัยว่า อเมริกากำลังเผชิญกับความก้าวร้าว ความทะเยอทะยาน และการรุกรานอย่างตรงไปตรงมา
ผอ.ซีไอเอ กล่าวไว้เมื่อเดือนเมษายนด้วยว่า การขับเคี่ยวระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในขณะนี้ มุ่งเน้นไปที่เรื่องเทคโนโลยีเป็นหลัก และ 1 ใน 3 ของคนทำงานในซีไอเอในปัจจุบันก็เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและไซเบอร์เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ของซีไอเอยืนยันว่า แม้จะมีการพุ่งความสนใจไปที่ภัยคุกคามจากจีนมากขึ้น แต่ความท้าทายจากส่วนอื่น ๆ ของโลกก็ยังคงอยู่ในการจับตามองของซีไอเอเหมือนที่ผ่านมา รวมถึงการคุกคามของรัสเซีย การยั่วยุของเกาหลีเหนือ และความเป็นปรปักษ์ของอิหร่าน แต่การรับมือของซีไอเอต่อความท้าทายเหล่านั้นจะเปลี่ยนไป
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่อเมริกันผู้หนึ่งซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ กล่าวกับวีโอเอว่า ภายใต้การปรับโครงสร้างองค์กรใหม่นี้ ซีไอเอจะลดระดับ “ศูนย์ปฏิบัติการด้านเกาหลีเหนือ” ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2017 ไปอยู่ภายใต้ “ศูนย์ปฏิบัติการด้านเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก”
เช่นเดียวกับ “ศูนย์ปฏิบัติการด้านอิหร่าน” ที่จะกลับไปอยู่ภายใต้ “ศูนย์ปฏิบัติการด้านตะวันออกใกล้” เช่นกัน