นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันเพิ่งประกาศการโคลนสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์เป็นครั้งแรกในสหรัฐฯ ซึ่งก็คือเจ้าเฟอร์เร็ตเท้าดำที่ถูกสร้างขึ้นมาจากเซลล์ของสัตว์ที่ตายไปเมื่อ 30 ปีก่อน
เจ้าหน้าที่จากหน่วยงาน US Fish and Wildlife Service ของสหรัฐฯ กล่าวว่า เจ้าเฟอร์เร็ตเท้าดำ ชื่อ เอลิซาเบ็ธ แอนน์ (Elizabeth Ann) เกิดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม โดยใช้วิธีสืบพันธุ์จากเซลล์แช่แข็งของเฟอร์เร็ตเท้าดำที่ชื่อ วิลลา (Willa) ซึ่งตายไปเมื่อปีค.ศ. 1988
การโคลนนิ่งดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สามารถนำพันธุ์สัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วกลับคืนมาได้ โดยโครงการโคลนนิ่งเฟอร์เร็ตเท้าดำเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการสร้างประชากรของสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ชนิดนี้
นอรีน วอลช์ (Noreen Walsh) ผู้อำนวยการของศูนย์อนุรักษ์เฟอร์เร็ตเท้าดำแห่งชาติ ที่อยู่ทางตอนเหนือของรัฐโคโลราโด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงาน Fish and Wildlife Service กล่าวในการประกาศเรื่องความสำเร็จของการโคลนนิ่งว่า "โครงการนี้จะสามารถช่วยให้ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการอนุรักษ์เจ้าเฟอร์เร็ตเท้าดำให้สำเร็จลุล่วงได้"
ทั้งนี้ เจ้าเฟอร์เร็ตเท้าดำนั้นสามารถจดจำได้ง่ายด้วยรอยดำที่เท้าและรอบดวงตา พวกมันล่าและกินเจ้าแพรี่ด็อกเป็นอาหาร
อย่างไรก็ดี เรื่องราวความสำเร็จในการอนุรักษ์เฟอร์เร็ตเท้าดำมีมาตั้งแต่ก่อนการโคลนนิ่งแล้ว ผู้คนคิดว่าพวกมันสูญพันธุ์ไปแล้ว เพราะเจ้าแพรี่ด็อกที่พวกมันกินเป็นอาหารเริ่มหมดลงเนื่องจากถูกยิงและวางยาพิษโดยเกษตรกรที่ต้องการสร้างสภาพแวดล้อมบนที่ดินของตนให้ดีขึ้นสำหรับการเลี้ยงวัว
แต่เมื่อปี 1981 มีการค้นพบเจ้าเฟอร์เร็ตเท้าดำในรัฐไวโอมิง จากนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงได้รวบรวมประชากรที่เหลือของพวกมันเพื่อทำโครงการเพาะพันธุ์แบบ captive mating จากนั้นเจ้าเฟอร์เร็ตเท้าดำหลายพันตัวถูกนำไปปล่อยทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ตลอดจนประเทศแคนาดาและเม็กซิโกตั้งแต่ปี 1990
อย่างไรก็ตาม การขาดความหลากหลายทางพันธุกรรมทำให้เกิดความเสี่ยงต่อประชากรเฟอร์เร็ตเท้าดำ สัตว์ทั้งหมดที่ถูกนำกลับมานั้นมาจากสัตว์สายพันธุ์ใกล้เคียงเพียงเจ็ดชนิด ความคล้ายคลึงกันทางพันธุกรรมนี้ทำให้พวกมันมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรง
เมื่อตอนที่เจ้า Willa ตายนั้นหน่วยงาน Wyoming Game and Fish ได้ส่งเนื้อเยื่อของมันไปยัง “สวนสัตว์แช่แข็ง” ที่บริหารงานโดย San Diego Zoo Global สวนสัตว์นี้เก็บเซลล์จากสัตว์มากกว่า 1,100 สายพันธุ์ตลอดจนสายพันธุ์ย่อยๆ จากทั่วโลกด้วย
ในอนาคตนักวิทยาศาสตร์หวังว่าจะเปลี่ยนแปลงยีนเหล่านั้นเพื่อช่วยให้สัตว์ที่ถูกโคลนขึ้นมาสามารถอยู่รอดได้
Pete Gober หัวหน้าโครงการฟื้นฟูประชากรเฟอร์เร็ตเท้าดำของหน่วยงาน Fish and Wildlife Service กล่าวว่า โดยพื้นฐานแล้วการโคลนนิ่งเหล่านี้ช่วยให้สามารถตรึงเวลาและสร้างเซลล์เหล่านั้นขึ้นมาใหม่ได้ และแม้ว่าการที่จะไปถึงระดับพันธุวิศวกรรมอาจต้องใช้เวลานาน แต่เขาก็หวังว่าเรื่องนี้จะสามารถเป็นไปได้