นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันกล่าวว่าพวกเขาได้พัฒนาวิธีการปลูกวัสดุไม้ในห้องทดลอง วิธีนี้จะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ที่แตกต่างกันภายในตัวอาคารได้ในขั้นตอนเดียว ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและลดความเสียหายต่อป่าไม้ของโลกได้อย่างมหาศาล
นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) แสดงให้เห็นถึงการพิสูจน์แนวคิดการปลูกโครงสร้างที่มีลักษณะเหมือนไม้จากเซลล์ที่นำมาจากใบของพืชดอก
รายงานผลการศึกษาดังกล่าวตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Journal of Cleaner Production ฉบับเมื่อเร็ว ๆ นี้ หัวหน้านักวิจัยในโครงการนี้คือ Luis Fernando Velásquez-García นักวิทยาศาสตร์ในปฏิบัติการ Microsystems Technology Laboratories ของสถาบัน MIT
เขากล่าวกับ MIT News ว่า กระบวนการนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา แต่ถ้าหากสามารถทำให้สมบูรณ์แบบได้ก็จะช่วยทำให้การผลิตสินค้าจากไม้ง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้น และว่า ที่ผ่านมาวิธีการที่มนุษย์เราได้รับวัสดุจากไม้มายังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงมาหลายศตวรรษ ทั้งยังวิธีที่ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก
ตัวอย่างเช่น กระบวนการสำหรับการทำโต๊ะไม้ในปัจจุบันอาจใช้เวลาหลายปี ประการแรกต้องปลูกต้นไม้ จากนั้นจะต้องตัดต้นไม้ ขนย้าย แปรรูป และอื่น ๆ อีกมากมาย Velásquez-García กล่าวอีกว่า ไม้ที่ปลูกในห้องทดลองนั้นจะสามารถรวมทุกขั้นตอนเหล่านั้นให้เป็นหนึ่งเดียวได้ เช่น ถ้าหากต้องการโต๊ะ ก็เพียงแค่ปลูกโต๊ะขึ้นมา
ทั้งนี้ กระบวนการนี้จะมีความคล้ายคลึงกับเนื้อสัตว์ที่ผลิตในห้องแล็บ ซึ่งปลูกขึ้นมาจากเซลล์สัตว์ที่มีชีวิต แต่ในการทดลองปลูกไม้นี้ คณะนักวิจัยของสถาบัน MIT ได้รวบรวมเซลล์ที่มีชีวิตจากใบของพืชดอก Zinnia หรือดอกบานชื่น จากนั้นเซลล์พืชจะได้รับการเพาะเลี้ยงและเก็บไว้ในสภาพแวดล้อมที่ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโต เซลล์พืชนั้นจะมีความคล้ายคลึงกับเซลล์ต้นกำเนิดในแง่ที่ว่าพวกมันสามารถกลายเป็นอะไรก็ได้ถ้าหากได้รับกระตุ้น
การทดลองดังกล่าวทำขึ้นในตัวอาคารโดยที่ไม่มีดินหรือแสงแดด ในระหว่างขั้นตอนนี้นักวิจัยได้ใช้ส่วนผสมของฮอร์โมนพืชสองชนิดที่ช่วยให้เซลล์เติบโตมีโครงสร้างเหมือนไม้ที่หนาและแข็งแรง ในการพัฒนาขั้นต่อไป นักวิจัยกล่าวว่า พวกเขาอาจใช้กระบวนการเดียวกันนี้ในการปลูกไม้ในรูปทรงเฉพาะ เช่น โต๊ะ หรือเก้าอี้
Ashley Beckwith นักศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาวิศวกรรมเครื่องกลที่สถาบัน MIT ซึ่งเป็นหัวหน้าการวิจัยกล่าวกับ MIT News ว่าเธอมีแนวคิดสำหรับโครงการนี้ในขณะที่ใช้เวลาอยู่ในฟาร์ม เพราะเธอสงสัยว่าขั้นตอนที่ไม่มีประสิทธิภาพบางอย่างที่มีอยู่ในการเกษตรจะสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ด้วยวิธีการทางห้องปฏิบัติการหรือไม่
เธอบอกอีกว่า เธอต้องการหาวิธีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการใช้ที่ดินและทรัพยากรเพื่อที่ผู้คนจะได้มีพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น และว่าการทดลองนี้แสดงให้เห็นว่าการปลูกเนื้อเยื่อพืชในห้องแล็บอาจส่งผลต่อการเกษตรอย่างมาก เช่นเดียวกับการผลิตไม้ กระบวนการนี้สามารถลดเวลาและความพยายามที่เกี่ยวข้องกับวิธีการเกษตรแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ยังสามารถขจัดปัญหาที่เชื่อมโยงกับสภาพอากาศและฤดูกาลในการทำการเกษตรได้อีกด้วย
การศึกษาชี้ว่าวิธีการทำฟาร์มในห้องแล็บดังกล่าวนี้จะช่วยเพิ่มผลผลิต ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดขยะจากพืชและปัญหาการแย่งที่ดินทำกิน
Velásquez-García นักวิจัยจากสถาบัน MIT กล่าวส่งท้ายว่าทีมของเขาจะพยายามพัฒนาวิธีการนี้ให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเรียนรู้วิธีการควบคุมวัสดุขั้นสุดท้ายของการผลิตให้ดียิ่งขึ้น และนักวิจัยยังต้องการทำการทดลองใหม่ๆ เพื่อดูว่าพืชชนิดอื่นๆ จะสามารถบรรลุผลลัพธ์เดียวกันนี้ได้หรือไม่