ในการประชุมแบบออนไลน์ระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และจีน ที่จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้ แหล่งข่าวภายในรัฐบาลกรุงวอชิงตันเปิดเผยว่า หัวข้อที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาหารือนั้นน่าจะมีเรื่องของความตึงเครียดในแถบช่องแคบไต้หวันและการรุกรานยูเครนของรัสเซียด้วย ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
การประชุมระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่จะมีขึ้นนี้เป็นครั้งที่ 5 ที่ทั้งคู่ได้ร่วมหารือกันและมีกำหนดจัดขึ้นหลังจีนส่งคำเตือนระดับสูงมายังรัฐบาลวอชิงตันเกี่ยวกับรายงานข่าวที่ว่า ประธานผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ส.ส.แนนซี เพโลซี อาจเดินทางเยือนไต้หวัน ซึ่งกรุงปักกิ่งอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของตน
จอห์น เคอร์บี โฆษกคณะทำงานฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาว บอกกับผู้สื่อข่าวว่า หัวข้อที่ผู้นำทั้งสองจะหารือกันนั้น “คือทุกเรื่อง ตั้งแต่กรณีความตึงเครียดในไต้หวัน ไปจนถึงสงครามในยูเครน รวมทั้ง วิธีที่สหรัฐฯ ใช้ในการรับมือกับการแข่งขันกับจีน โดยเฉพาะในแง่เศรษฐกิจ”
เคอร์บี้ กล่าวด้วยว่า “มีการกำหนดการนัดหารือนี้มานานแล้ว และมีประเด็นสำคัญ ๆ มากมายที่ผู้นำทั้งสองจะหยิบยกขึ้นมาคุยกัน”
ส่วนที่กรุงปักกิ่งนั้น จ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน บอกกับผู้สื่อข่าวระหว่างการแถลงข่าวในวันพุธว่า ตนไม่มีรายละเอียดใด ๆ เกี่ยวกับการประชุมที่จะเกิดขึ้นนี้
ภายใต้นโยบายจีนเดียวของกรุงปักกิ่ง สหรัฐฯ ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวัน แต่กฎหมายของสหรัฐฯ กำหนดให้รัฐบาลกรุงวอชิงตันต้องยื่นมือให้ความช่วยเหลือต่อรัฐบาลกรุงไทเปในการปกป้องตนเองเมื่อมีความจำเป็น ขณะที่ ทำเนียบขาวยังยืนยันว่า จุดยืนของสหรัฐฯ นั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปจากข้างต้น แม้จะมีกรณีการคาดการณ์เกี่ยวกับการที่ ส.ส.เพโลซี อาจเดินทางไปไต้หวันก็ตาม
ในประเด็นเกี่ยวกับแผนการเดินทางที่ว่านี้ เคอร์บี้ กล่าวว่า การที่ ส.ส.เพโลซี เป็นผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นตำแหน่งที่จะต้องรับหน้าที่ผู้นำรัฐบาลหากเกิดอะไรขึ้นกับประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ การเดินทางไปต่างประเทศของประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นเรื่องของความมั่นคงของประเทศด้วย แต่ถึงกระนั้น ตัวของ ส.ส.เพโลซี เองเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสินใจว่า จะเดินทางไปที่ไหน
ทั้งนี้ แผนการเดินทางเยือนไต้หวัน ของ ส.ส.เพโลซี นั้นเป็นเพียงหนึ่งในหลายปัจจัยที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน มีปัญหา
ถึงกระนั้น จู เฟิง คณบดีของสถาบันศึกษานานาชาติ จากมหาวิทยาลัยนานจิง ประเทศจีน ให้ความเห็นว่า การเยือนไต้หวันของ ส.ส.เพโลซี นั้นเป็นเหมือน “การเล่นกับไฟ” และว่า “นี่คือประเด็นที่จะทำให้จีนขุ่นเคืองมากที่สุด”
สำหรับการประชุมระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และจีนนั้น คณบดีของสถาบันศึกษานานาชาติ จากมหาวิทยาลัยหนานจิง กล่าวว่า “ทั้งสองฝ่ายต้องนำเสนอสัญญาณด้านบวกให้กันและกันว่า ต่างสามารถเชื่อมั่นอีกฝ่ายได้ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ ในช่วงที่โลกอยู่ในภาวะบอบบางและผันผวนง่ายนี้ (และ) การไม่สนับสนุนให้เพโลซีเยือนไต้หวัน คือ ท่าทีที่จำเป็นยิ่งในการสร้างความเชื่อมั่นที่ว่า”
แต่เมื่อมีผู้สอบถามเกี่ยวกับแผนการของ ส.ส.เพโลซี นายกรัฐมนตรีซู เจิง-ชาง ของไต้หวัน กล่าวในวันพุธว่า กรุงไทเปยินดีต้อนรับ “แขกต่างเมืองผู้เป็นมิตร” ทุกคนที่จะมาเยือนไต้หวัน แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดใด ๆ เพิ่มเติม ขณะที่ กระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน ยืนยันว่า จนถึงบัดนี้ ยังไม่ได้รัรบข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับรายงานที่ว่า ประธานสภาล่างสหรัฐฯ จะเยือนไต้หวันเลย
แดเนียล รัสเซล ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ด้านการทูตระดับของสหรัฐฯ ประจำภูมิภาคเอเชีย ในช่วงรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวว่า ประเด็นเกี่ยวกับไต้หวันมีทิศทางที่อาจกลายมาเป็นสถานการณ์วิกฤตได้ หากไม่มีกลไก สหรัฐฯ-จีน มาป้องกันไม่ให้เรื่องนี้ยกระดับขึ้นเป็นความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศมหาอำนาจ
รัสเซล ให้ความเห็นด้วยว่า ตนไม่แน่ใจว่า รัฐบาลปธน.ไบเดน พยายามกดดัน ส.ส.เพโลซี เกี่ยวกับแผนการเยือนไต้หวันเพียงใด แต่ปธน.สี ของจีน น่าจะย้ำเรื่องนี้อย่างหนักในระหว่างการประชุม
แต่ เครก ซิงเกิลตัน นักวิชาการอาวุโสจากมูลนิธิ Foundation for Defense of Democracies ในกรุงวอชิงตัน มีความเห็นที่ต่างออกไป และระบุว่า ผู้นำจีนน่าจะเลือกทำใจเย็น ๆ ในช่วงที่เศรษฐกิจของจีนกำลังถูกกดดันหนักจากผลกระทบของมาตรการควบคุมโควิด-19 อันเข้มงวดอยู่นี้
ซิงเกิลตัน กล่าวว่า “ขณะที่ ปธน.สี จะแสดงจุดยืนชัดเจนและพูดตรงไปตรงมาเกี่ยวกับท่าทีของจีนที่คัดค้านการเยือน(ไต้หวัน)ของประธานสภาฯ เพโลซี ผู้นำจีนไม่น่าจะปล่อยให้เรื่อง ๆ เดียวรวนการสนทนาทั้งหมดให้เสียกระบวน เพราะการทำเช่นนั้นจะยิ่งทำให้การดำเนินแผนงานปกครองประเทศของตนที่อยู่ในภาวะยุ่งยากอยู่แล้วซับซ้อนขึ้นไปอีก”
อีกประเด็นที่มีการพูดถึงเกี่ยวกับการประชุมระหว่างปธน.ไบเดนและปธน.สี ก็คือ นโยบายเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าจีนซึ่งโฆษกคณะทำงานฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาว กล่าวว่า รัฐบาลวอชิงตันยังคงหารือว่า จะมีการยกเลิกการเก็บภาษีบางรายการอยู่เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ แต่ไม่คิดว่าจะได้ข้อสรุปใด ๆ ก่อนการประชุมระหว่างปธน.ไบเดนและปธน.สี
ในเวลานี้ สภาคองเกรสกำลังพิจารณาร่างกฎหมายที่รู้จักกันในชื่อ CHIPS act ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการให้งบมูลค่า 52,000 ล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ และงบ 24,000 ล้านดอลลาร์เพื่อเป็นเครดิตภาษีการลงทุนให้กับโรงงานผลิตชิปประมวลผล ตามที่ปธน.ไบเดน ระบุว่า เป็นนโยบายสำคัญเพื่อให้สหรัฐฯ สามารถเดินหน้าแข่งขันทางเศรษฐกิจกับจีนได้
ปธน.ไบเดน เรียกร้องให้สภาคองเกรสเร่งผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวออกมาใช้งานโดยด่วน และในวันพุธ วุฒิสภาสหรัฐฯ ได้ลงมติผ่านร่างกฎหมายนี้ในวาระสุดท้ายแล้ว ซึ่งหมายความว่า ร่างดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติอนุมัติในลำดับต่อไป โดยมีการคาดกันว่า ปธน.ไบเดน จะได้ลงนามรับรองเพื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการในสัปดาห์หน้า
- ที่มา: รอยเตอร์