รายงานข่าวที่ออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ทำเนียบขาวของสหรัฐฯ มีแนวคิดริเริ่มที่จะยกระดับการให้การสนับสนุนต่าง ๆ ให้กับประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ด้วยจุดประสงค์ที่จะต้านอิทธิพลของจีนที่แผ่ขยายขึ้นเรื่อย ๆ ในภูมิภาคดังกล่าวซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เคยแต่ได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตกมาโดยตลอดจนถึงเวลานี้
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนได้ออกมาให้การตอบรับในเชิงบวกต่อแผนงานดังกล่าวของสหรัฐฯ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา แต่ก็ได้ให้ความเห็นไว้ด้วย
หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า “เรายินดีที่จะเห็นประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกได้รับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นจากประเทศทั้งหลายที่ยินดีที่จะดำเนินการดังกล่าว เพื่อช่วยในการพัฒนาและการปรับปรุงด้านต่าง ๆ” และว่า “เรื่องนี้เป็นจุดยืนของจีนมาโดยตลอด แต่ขณะเดียวกัน เราเชื่อว่า ประเทศทั้งหลายที่กำลังเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกอยู่นี้ ไม่ควรพุ่งเป้าและมุ่งสร้างความเสียหายให้กับผลประโยชน์ของ(ประเทศ)บุคคลที่ 3 เลย”
ทั้งนี้ ประเทศหมู่เกาะที่มีขนาดเล็กในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีฐานะยากจน มักต้องพึ่งพาความช่วยเหลือและการค้าขายกับประเทศที่มีขนาดใหญ่ต่าง ๆ เสมอ
ในส่วนของสหรัฐฯ นั้น กรุงวอชิงตันตั้งใจที่จะเปิดสถานทูตของตนในประเทศแถบแปซิฟิกใต้เช่น สาธารณรัฐคิริบาส และราชอาณาจักรตองกา ตามแถลงการณ์ที่ทำเนียบขาวเปิดเผยออกมาเมื่อวันอังคาร ขณะที่ สำนักงานประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า จะทำการยื่นของบประมาณปีละ 60 ล้านดอลลาร์จากสภาคองเกรสเพื่อใช้งานในช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าระดับปัจจุบันถึง 3 เท่า โดยงบนี้จะมีเอาไว้ใช้สนับสนุนโครงการพัฒนาเศรษฐกิจที่ได้จากทรัพยากรทางทะเล
นอกจากนั้น ทำเนียบขาวยังตั้งใจที่จะส่งหน่วยสันติภาพสหรัฐฯ หรือ U.S. Peace Corps กลับไปปฏิบัติงานที่ ฟิจิ ตองกา ซามัว และวานูอาตู ด้วยเหตุผลด้านความคืบหน้าในแผนงานกลับไปจัดตั้งหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐฯ (USAID) ประจำภูมิภาคแปซิฟิก ใน ฟิจิ อีกครั้ง
ในการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิกที่กรุงซูวา สาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คามาลา แฮร์ริส ได้เข้าร่วมหารือแบบออนไลน์กับผู้นำประเทศต่าง ๆ และประกาศพันธกรณีใหม่ของสหรัฐฯ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อ “ยกระดับความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสหรัฐฯ กับภูมิภาคนี้”
เกรกอรี โพลิง ผู้อำนวยการโครงการ Asia Maritime Transparency Initiative แห่ง Center for Strategic and International Studies ให้ความเห็นว่า การที่สหรัฐฯ ส่ง Peace Corps กลับคืนสู่ภูมิภาคแปซิฟิกใต้ และการเปิดสถานทูตในประเทศต่าง ๆ พร้อมกับการขยายความช่วยเหลือด้านความมั่นคงทางทะเล ถือเป็นข่าวดี และกล่าวว่า มีหลายคนพูดว่า น่าจะมีการทำการเหล่านี้มาตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อนแล้ว “แต่ในที่สุด กิจกรรมต่าง ๆ ของจีนในภูมิภาคนี้ก็ทำให้วอชิงตันตื่นขึ้นมารับรู้ความจริงว่า ตัวเอง (สหรัฐฯ) ไม่สามารถมองข้ามบทบาทของตนเองหรือของกลุ่มพันธมิตรในหมู่เกาะแปซิฟิกได้อีกต่อไปแล้ว”
อิทธิพลของจีน
กรุงปักกิ่งได้ส่งสัญญาณความตั้งใจของตนเกี่ยวกับภูมิภาคแปซิฟิกใต้ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2006 ที่จีนริเริ่มการประชุมด้านความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกและจีน ซึ่งมีการจัดมาทั้งหมด 3 ครั้งแล้วและเป็นเวทีที่จีนเรียกว่า เป็นพื้นที่เจรจาหารือประเด็นเศรษฐกิจ-การค้าระดับสูงที่สุดของตนเท่าที่มีการดำเนินการในแปซิฟิกใต้ด้วย
ผู้เชี่ยวชาญบอกกับ วีโอเอ ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนให้ความสนใจในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มมีการขยายอิทธิพลทางทะเลและการดำเนินธุรกิจต่าง ๆ มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในธุรกิจประมง
พัฒนาการที่ได้รับความสนใจมากที่สุดก็คือ การที่กรุงปักกิ่งลงนามข้อตกลงด้านความมั่นคงกับหมู่เกาะโซโลมอนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และบรรลุข้อตกลง “ด้านความร่วมมือ” 52 ฉบับแล้ว หลังรัฐมนตรีต่างประเทศจีนได้ร่วมหารือกับผู้นำจาก 17 ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ในช่วงเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน
บทบาทเก่า-ใหม่ ของสหรัฐฯ
กรุงวอชิงตันเริ่มสร้างอิทธิพลของตนในแถบแปซิฟิกตอนใต้มาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยบางประเทศในแถบนี้กลายมาเป็นเขตปกครองของสหรัฐฯ ขณะที่ บางประเทศกลายมาเป็นพันธมิตรด้านการทูตที่ใกล้ชิด
นอกจากนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ยังทำการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ที่หมู่เกาะมาร์แชลล์ ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคนี้ถึง 67 ครั้งในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1946-1958 ด้วย
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศว่า สหรัฐฯ กำลังทำการเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงด้านการคุ้มครองทางทหารและทางเศรษฐกิจกับสาธารณรัฐปาเลา หมู่เกาะมาร์แชลล์ และสหพันธรัฐไมโครนีเซีย อยู่แล้ว
ขณะเดียวกัน ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ นั้น ถือเป็นผู้อุปถัมภ์หลักในแถบแปซิฟิกใต้ และสหรัฐฯ ก็ได้เข้าร่วมกับทั้งสองประเทศ รวมทั้ง ญี่ปุ่น และอังกฤษ เมื่อเดือนที่แล้วในการจัดตั้งกลุ่มหุ้นส่วนใหม่ที่ชื่อ Partners in the Blue Pacific เพื่อมุ่งขยายความร่วมมือในแปซิฟิกใต้ออกไปอีก
ท่ามกลางการแข่งขันจากทั้งสหรัฐฯ และจีน เพื่อสานสัมพันธ์กับภูมิภาคนี้ ซาตู ลิเมย์ รองประธาน องค์กรวิจัย East-West Center ในนครฮอนโนลูลู รัฐฮาวาย ให้ความเห็นว่า ในที่สุดแล้ว ประเทศในแถบแปซิฟิกใต้จะเป็นผู้รับผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่ปราศจากความเสี่ยงทางการเมือง ด้วยการตอบรับข้อเสนอทั้งหลายจากทั้งสองประเทศมหาอำนาจ
อย่างไรก็ดี ลิเมย์ กล่าวว่า แผนงานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน สำหรับภูมิภาคแปซิฟิกน่าจะต้อง “ใช้เวลา” พอสมควรกว่าจะออกดอกออกผลดังหวัง เพราะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยังต้องพยายามทำให้สภาคองเกรสอนุมัติแผน และหาเงินทุนมาใช้เป็นงบ รวมทั้งจัดหาทรัพยากรมนุษย์มาประจำสถานทูตต่าง ๆ เป็นต้น
- ที่มา: วีโอเอ