สหรัฐฯ เริ่มนำมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านกลับมาใช้อีกครั้ง โดยมุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมน้ำมันและภาคการเงินของอิหร่าน หลังจากที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงด้านนิวเคลียร์กับกรุงเตหะรานเมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ ร่วมกับรัฐมนตรีการคลังสหรัฐฯ สตีเว่น มนูชิน ร่วมแถลงข่าวในวันจันทร์ โดยระบุว่า รัฐบาลอิหร่านยังมีทางเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการลงโทษ ด้วยการปรับเปลี่ยนท่าทีก้าวร้าว และยอมยกเลิกโครงการนิวเคลียร์อย่างถาวร
ภายใต้มาตรการลงโทษที่นำกลับมาใช้ใหม่ สหรัฐฯ จะคว่ำบาตรการซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่าน ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับกรุงเตหะราน
อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ยังอนุญาตให้ 8 ประเทศทำธุรกรรมด้านน้ำมันกับอิหร่านได้ชั่วคราวก่อนที่จะยุติทั้งหมดในอนาคต ซึ่งยังไม่กำหนดว่านานแค่ไหน
8 ประเทศดังกล่าว ได้แก่ ตุรกี จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อิตาลี และกรีซ ซึ่งล้วนเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่จากอิหร่าน
ในส่วนของภาคการเงิน รัฐมนตรีมนูชิน ระบุว่า สหรัฐฯ คว่ำบาตรธนาคารกลางของอิหร่าน รวมทั้งอุตสาหกรรมขนส่งและต่อเรือของอิหร่าน ครอบคลุมบุคคลและนิติบุคคลต่างๆ มากกว่า 700 แห่ง ถือเป็นมาตรการลงโทษด้านการเงินครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่สหรัฐฯ เคยนำมาใช้กับอิหร่าน
การนำมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจกลับมาใช้กับอิหร่าน เป็นผลของการตัดสินใจของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ถอนอเมริกาออกจากความตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านและประเทศผู้นำโลกอื่นๆ
ตลอดมา ประธานาธิบดีทรัมป์ วิจารณ์ความตกลงฉบับนี้ซึ่งเกิดขึ้นสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีโอบาม่า อย่างรุนแรง โดยระบุว่า อิหร่านได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากมายจากข้อตกลงจำกัดการพัฒนานิวเคลียร์ แต่รัฐบาลเตหะรานใช้เงินที่ได้มาไปในทางทหารและสนับสนุนการก่อการร้าย แทนที่จะนำไปช่วยประชาชน
ด้านประธานาธิบดีอิหร่าน ฮัสซาน รูฮานี กล่าวทางโทรทัศน์ในวันจันทร์ว่า อิหร่านจะไม่ยอมก้มหัวให้กับมาตรการลงโทษของสหรัฐฯ และจะยังขายน้ำมันดิบต่อไป
เมื่อวันเสาร์ ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อยาโตลาห์ อาลี คาเมนี กล่าวประณามสหรัฐฯ ที่นำมาตรการลงโทษกลับมาใช้ โดยบอกว่าสหรัฐฯ กำลังทำลายบทบาทความเป็นผู้นำโลกของสหรัฐฯ เอง และในที่สุดแล้ว อิหร่านจะกลายเป็นผู้ชนะ