เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงลอนดอน เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ Sunday Telegraph เตือนนายกรัฐมนตรีอังกฤษว่า ให้ยืนอยู่ข้างสหรัฐฯ แทนที่จะอยู่ฝ่ายเดียวกับสหภาพยุโรป ในเรื่องการใช้มาตรการลงโทษอิหร่าน
เอกอัครราชทูต วูดดี้ จอห์นสัน ของสหรัฐฯ ระบุว่า อังกฤษอาจจะเผชิญกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ หากว่าไม่ร่วมมือกับอเมริกาในการลงโทษอิหร่าน เขายังได้กล่าวด้วยว่า ภาคเอกชนของอังกฤษควรยุติการทำการค้ากับอิหร่าน ไม่เช่นนั้นจะถูกตอบโต้ทางการค้าจากสหรัฐฯ ด้วย
การส่งสัญญาณเตือนผ่านสื่อโดยนักการทูตสหรัฐฯ ต่อรัฐบาลกรุงลอนดอนซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลกรุงวอชิงตันมายาวนาน แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ทูตวูดดี้ จอห์นสัน ยกระดับการกดดันอังกฤษเรื่องอิหร่าน หลังจากที่รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ นำมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจกลับมาใช้กับอิหร่าน ซึ่งเป็นผลของการตัดสินใจของทรัมป์ที่ถอนอเมริกาออกจากความตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านและประเทศผู้นำโลกอื่นๆ
ตลอดมา ประธานาธิบดีทรัมป์ วิจารณ์ความตกลงฉบับนี้ซึ่งเกิดขึ้นสมัยรัฐบาลก่อนอย่างรุนแรง โดยระบุว่า อิหร่านได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากมายจากข้อตกลงจำกัดการพัฒนานิวเคลียร์ แต่รัฐบาลเตหะรานใช้เงินที่ได้มาไปในทางทหารและสนับสนุนการก่อการร้าย แทนที่จะนำไปช่วยประชาชน
ข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านซึ่งเกิดขึ้นสมัยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากสหภาพยุโรป แม้ว่ารัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์จะถอนอเมริกาออกจากความตกลงก็ตาม
ในบทความที่ตีพิมพ์ ใน Sunday Telegraph ทูตจอห์นสันกล่าวว่า “รัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์มุ่งมั่นที่จะทำให้แน่ใจว่า การลงโทษอิหร่านต้องได้รับการบังคับใช้อย่างเต็มที่ธุรกิจใดๆ ที่เห็นแก่ผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ในอิหร่านก่อนผลประโยชน์ร่วมกันของโลก มีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับผลลัพธ์ที่รุนแรงในการค้ากับสหรัฐฯ”
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศของอังกฤษรายหนึ่ง กล่าววันอาทิตย์ว่า อังกฤษจะยังคงดำเนินแนวทางตามความตกลงนิวเคลียร์นิวเคลียร์กับอิหร่าน เขาบอกด้วยว่า อังกฤษได้หารือกับสหรัฐฯ เกี่ยวกับการทำงานร่วมกันที่จะจำกัดบทบาทของอิหร่านในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นข้อกังวลสำคัญ
นอกจากนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลอังกฤษยังได้ลงนามแถลงการณ์ร่วมกับสหภาพยุโรป หรืออียู ที่จะลดผลกระทบจากมาตรการของสหรัฐฯ ต่อภาคเอกชนของอียู
ประเทศเหล่านี้ยังห้ามบริษัทเอกชนในยุโรปทำตามเงื่อนไขที่สหรัฐฯ ที่ยกมาใช้กับภาคธุรกิจโดยอำเภอใจ
เอกอัครราชทูต วูดดี้ จอห์นสัน ของสหรัฐฯ เขียนในบทความด้วยว่า “การร่วมกันใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านอย่างพร้อมเพรียงกัน เป็นหนทางเดียวที่จะให้เกิดผลสูงสุดต่ออิหร่าน เพื่อให้อิหร่านยุติกิจกรรมที่ชั่วร้าย ทั้งในอิหร่านเองและในต่างประเทศ”
แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ ในครั้งนี้ น่าจะสร้างความยุ่งยากใจให้กับนายกรัฐมนตรี เธเรซา เมย์ ของอังกฤษ เพราะในปีนี้ พรรคอนุรักษ์นิยมของเธออาจจะมีการปรับเปลี่ยนผู้บริหาร และหนึ่งในบรรดาผู้ที่อาจจะขึ้นมาท้าทายอำนาจของเธอคือ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ นายบอริส จอห์นสัน ซึ่งเคยกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเมย์ ควรแสดงบทบาทให้เหมือนโดนัลด์ ทรัมป์ ในการบริหารประเทศ
(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Jamie Dettmer)