รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังถอนตัวออกจากสนธิสัญญาไมตรีกับอิหร่าน ที่จัดทำมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1955 เพื่อตอบโต้ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก ได้มีคำสั่งให้สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการลงโทษต่ออิหร่าน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับยารักษาโรค อาหาร และชิ้นส่วนเครืื่องบิน
การถอนตัวออกจากสนธิสัญญาไมตรี ซึ่งเป็นการจัดทำความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการทูตระหว่างสองประเทศ ยิ่งก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลกรุงวอชิงตันกับกรุงเตหะรานมากขึ้น
ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ จอห์น โบลตัน กล่าวต่อผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาวว่า "ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้เป้นผลมาจากการที่ผู้นำสูงสุดของอิหร่านได้ปรับเปลี่ยนจุดยืนของอิหร่านเอง จากประเทศที่ได้ัรับความยกย่องนับถือบนเวทีโลก กลายเป็นประเทศอันธพาล" และว่า "จุดประสงค์ของสหรัฐฯ ไม่ใช่การล้มระบอบการปกครองของอิหร่าน แต่ต้องการให้อิหร่านเปลี่ยนพฤติกรรม"
ก่อนหน้านี้ อิหร่านร้องเรียนต่อศาลโลกว่า สหรัฐฯ ได้ละเมิดสนธิสัญญาไมตรีกับอิหร่าน ด้วยการยกเลิกข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ที่ทำไว้เมื่อปี ค.ศ. 2015 และนำมาตรการลงโทษกลับมาใช้กับอิหร่านอีกครั้ง
ศาลโลกมีคำตัดสินในวันพุธว่า มาตรการลงโทษของสหรัฐฯ นั้นอาจเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยด้านการบินของอิหร่าน และอาจส่งผลกระทบต่อการจัดหาอาหาร ยารักษาโรค และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ต่อประชาชนอิหร่าน
ศาลโลกยังมีคำสั่งให้สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการลงโทษต่ออิหร่าน ในส่วนที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมสำคัญดังกล่าว และขอให้ทั้งสองประเทศใช้ความอดกลั้นเพื่อป้องกันการขยายตัวของความขัดแย้งในครั้งนี้
โดยคำตัดสินของศาลโลกดังกล่าวถือว่ามีผลผูกมัด แต่ไม่มีการบังคับใช้ต่อคู่กรณีแต่อย่างใด
ด้านนายโบลตัน กล่าวว่า การตัดสินของศาลโลกครั้งนี้ถือเป็นความพ่ายแพ้ของอิหร่าน และเป็นการปฏิเสธข้อเรียกร้องแทบทั้งหมดของกรุงเตหะราน
ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ ระบุว่า อิหร่านกำลังละเมิดกฎเกณฑ์ของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองและการโฆษณาชวนเชื่อของอิหร่านเอง