ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สหรัฐฯ แย้มแผนประชุมร่วมกับรัสเซียในเดือนมกราคม


Russian troops take part in drills at the Kadamovskiy firing range in Russia's southern Rostov region, near the country's border with Ukraine, Dec. 14, 2021.
Russian troops take part in drills at the Kadamovskiy firing range in Russia's southern Rostov region, near the country's border with Ukraine, Dec. 14, 2021.

สหรัฐฯ เชื่อว่า จะมีการจัดการหารือระดับทวิภาคีกับรัสเซีย เพื่อถกกรณีการสั่งสมกำลังทหารตามแนวชายแดนประเทศยูเครน ในเดือนมกราคม แม้ว่า ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน จะออกมาโทษสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรตะวันตกว่า เป็นสาเหตุของการยกระดับความตึงเครียดล่าสุดนี้ก็ตาม

แคเรน ดอนฟรีด ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งดูแลส่วนงานกิจการยุโรปและยูเรเซีย บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ในเร็วๆ นี้ สหรัฐฯ และรัสเซียจะมีการตกลงเรื่องวันที่ที่แน่นอนสำหรับการประชุมหารือเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของกรุงมอสโก ให้กลุ่มนาโต้ยกเลิกกิจกรรมทางการทหารต่างๆ ในพื้นที่ยุโรปตะวันออกและยูเครน

แต่ ดอนฟรีด เตือนด้วยว่า สหรัฐฯ ได้ย้ำไปแล้วว่า การหารือที่จะเกิดขึ้นนั้น จะอยู่บนพื้นฐานของ “การต่างตอบแทน และการแก้ไขประเด็นความกังวลเกี่ยวกับท่าทีของรัสเซีย” และจะมีขึ้น “ภายใต้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับพันธมิตรในยุโรปและหุ้นส่วนอื่นๆ” ของสหรัฐฯ ด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลชาติตะวันตกประเมินว่า รัสเซียได้ส่งกำลังทหารราว 100,000 นายไปประจำพื้นที่ชายแดนของตนที่ติดกับภาคตะวันออกของยูเครนแล้ว หลังทำตามอำเภอใจผนวกคาบสมุทรไครเมียของยูเครนเข้ากับตนเองเมื่อปี ค.ศ. 2014 โดยสหรัฐฯ แสดงความกังวลว่า รัสเซียอาจทำการรุกรานยูเครนในปีหน้า แต่ไม่เชื่อว่า ปธน.ปูติน ได้ตัดสินใจแล้วว่า จะทำการโจมตีหรือไม่

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้เตือนปธน.รัสเซียเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ในระหว่างการประชุมสุดยอดแบบออนไลน์ว่า สหรัฐฯ และพันธมิตรต่างๆ จะดำเนินมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบรุนแรงหนักต่อรัสเซีย หากเกิดการรุกรานยูเครนขึ้นจริง

อย่างไรก็ตาม ปธน.ไบเดน ปฏิเสธที่จะส่งกำลังทหารอเมริกันเข้าไปยังภูมิภาคที่กำลังอยู่ในภาวะตึงเครียดนี้ หากรัสเซียทำการโจมตียูเครน แต่รัฐบาลกรุงวอชิงตันมีแผนจะส่งอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนหนึ่ง รวมทั้งขีปนาวุธจาเวลิน ไปยังรัฐบาลกรุงเคียฟเพื่อใช้ในปฏิบัติการป้องกันตนเอง

ในส่วนของการประชุมทวิภาคีที่จะเกิดขึ้นนั้น ปธน.ปูติน ได้เรียกร้องให้กลุ่มนาโต้ปฏิเสธการที่ยูเครนและประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ร้องขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มพันธมิตรนี้ที่ก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมๆ กับให้ทำการลดการส่งกำลังทหารเข้าไปยังพื้นที่ยุโรปตอนกลางและยุโรปตะวันออกด้วย

ผู้นำรัสเซียยังอ้างด้วยว่า หากสหรัฐฯ และนาโต้ติดตั้งระบบขีปนาวุธในยูเครน การยิงถล่มกรุงมอสโกนั้นจะสามาถทำได้ภายในเวลาไม่กี่นาที

นอกจากนั้น ปธน.ปูติน กล่าวว่า กรุงมอสโกหวังที่เห็น “การหารืออันสร้างสรรค์และมีความหมาย ที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ซึ่งประจักษ์เห็นด้วยตาได้ และเกิดขึ้นภายในกรอบเวลาหนึ่งๆ ซึ่งจะช่วยยืนยันความมั่นคงปลอดภัยที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกฝ่าย” พร้อมระบุว่า “ความขัดแย้งทางการทหาร และการเสียเลือดเนื้อนั้นไม่ใช่ทางเลือกของรัสเซีย และรัสเซียก็ไม่ต้องการเห็นเหตุการณ์เช่นนนั้น แต่ต้องการแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยหนทางทางการเมืองและทางการทูต”

  • ข้อมูลบางส่วนมาจากสำนักข่าว รอยเตอร์ และ เอพี

XS
SM
MD
LG