ลิ้งค์เชื่อมต่อ

'ไบเดน' เปิดกล้องหารือ 'ปูติน' ร่วม 2 ชม. ถกประเด็นยูเครน


Joe Biden, Antony Blinken talk to Vladimir Putin
Joe Biden, Antony Blinken talk to Vladimir Putin
Biden-Putin Meeting
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:38 0:00

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน และประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ร่วมประชุมผ่านวิดีโอออนไลน์เป็นเวลาสองชั่วโมงในวันอังคาร เพื่อหารือเรื่องความตึงเครียดในยูเครน และประเด็นความขัดแย้งอื่น ๆ ท่ามกลางความกังวลของชาติตะวันตกว่ารัสเซียอาจส่งกำลังทหารรุกรานยูเครน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ทำเนียบขาวมีแถลงการณ์แจ้งก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น แต่มิได้เปิดเผยภาพหรือวิดีโอใด ๆ จากห้อง 'Situation Room' ที่ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดนใช้ในการประชุมทางไกลร่วมกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ในครั้งนี้ โดยทำเนียบขาวระบุว่า ผู้นำทั้งสองประเทศใช้เวลาหารือกันร่วมสองชั่วโมง

ภาพข่าวจากสถานีโทรทัศน์รัสเซีย แสดงให้เห็นประธานาธิบดีปูตินและประธานาธิบดีไบเดนต่างทักทายอย่างเป็นกันเองก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น โดยผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า หวังว่าการประชุมครั้งหน้าจะเป็นการประชุมแบบพบเจอกันจริง ๆ

ทำเนียบเครมลินของรัสเซียแสดงความหวังว่า ประธานาธิบดีปูตินและประธานาธิบดีไบเดนจะสามารถพบกันแบบซึ่งหน้าในเร็ววันนี้เพื่อหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสองประเทศที่ตกต่ำลงไปอยู่ระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดยุคสงครามเย็น

Vladimir Putin attends a meeting with US President Joe Biden
Vladimir Putin attends a meeting with US President Joe Biden

ความตึงเครียดที่พรมแดนยูเครน

ที่ผ่านมา ยูเครนและประเทศตะวันตกกล่าวหารัสเซียว่า ส่งกำลังทหารหลายหมื่นคนไปประจำการบริเวณพรมแดนติดกับรัสเซีย และหวั่นเกรงว่าอาจมีการสั่งการให้ทหารรัสเซียเหล่านั้นบุกเข้าไปในยูเครนได้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลรัสเซียยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหาของชาติตะวันตก และว่าทหารเหล่านั้นถูกส่งไปประจำการเพื่อป้องกันอธิปไตยของรัสเซีย นอกจากนี้ ทางรัสเซียยังกล่าวหากลับว่า ชาติตะวันตกกำลังให้การสนับสนุนทางทหารแก่ยูเครน พร้อมทั้งตั้งคำถามถึงจุดประสงค์ของยูเครนและต้องการการรับรองว่า ยูเครนจะไม่ใช้กำลังเพื่อยึดคืนเขตแดนที่สูญเสียไปเมื่อปี ค.ศ 2014 ให้แก่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่มีรัสเซียหนุนหลัง

ทางด้านโฆษกรัฐบาลรัสเซีย ดิมิทรี เพสคอฟ กล่าวว่า รัสเซียต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีและคาดเดาได้กับสหรัฐฯ พร้อมยืนยันว่ารัสเซียไม่ต้องการโจมตีประเทศใด แต่ก็มี "ขีดจำกัด" ของรัสเซียเองเช่นกัน และขอให้ทุกฝ่าย "ใจเย็น" ต่อกรณีความขัดแย้งบริเวณพรมแดนยูเครน

โฆษกรัสเซียกล่าวแสดงความหวังด้วยว่า การเจรจาระหว่างประธานาธิบดีไบเดนกับประธานาธิบดีปูติน จะช่วยบรรเทาความตึงเครียดที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมากในยุโรปขณะนี้ได้

UKRAINE-CRISIS
UKRAINE-CRISIS

มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย?

ก่อนการประชุมในวันอังคารจะเริ่มขึ้น เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ปธน.ไบเดน จะบอกกับ ปธน.ปูติน ว่า หากรัสเซียบุกรุกยูเครนจริง รัฐบาลรัสเซียและธนาคารพาณิชย์ในรัสเซียอาจถูกลงโทษทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ และชาติตะวันตก ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคการเงินของรัสเซีย

ขณะที่แหล่งข่าวซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ ระบุว่า ได้มีการหารือเรื่องใช้มาตรการลงโทษต่อบุคคลใกล้ชิดกับ ปธน.ปูติน แต่ยังไม่มีการตัดสินใจใด ๆ

ด้านสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า มาตรการลงโทษอาจรวมถึงการขับรัสเซียออกจากระบบการทำธุรกรรมระหว่างประเทศที่เรียกว่า SWIFT ซึ่งธนาคารทั่วโลกใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ขณะที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า สหรัฐฯ และพันธมิตรในยุโรปอาจมุ่งเป้าไปที่กองทุนเพื่อการลงทุนโดยตรงของรัสเซีย

ส่วนทางรัฐมนตรีต่างประเทศของแลตเวีย ให้สัมภาษณ์ในกรุงลอนดอนในวันอังคารว่า รัสเซียควรรับทราบว่าการรุกรานประเทศอื่นจะมีต้นทุนที่ตามมาในรูปของการลงโทษทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจรวมถึงผลกระทบต่อโครงการท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 จากรัสเซียไปยังเยอรมนี มูลค่า 11,000 ล้านดอลลาร์ด้วย

ด้านประธานคณะกรรมการสหภาพยุโรป เออร์ชูลา วอน เดอ เลเยน กล่าวในวันอังคารว่า อียุสนับสนุนยูเครนอย่างเต็มที่ และกำลังมีการพิจารณาเพิ่มมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย

ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน กล่าวว่า ตนต้องการให้มีการจัดทำข้อตกลงที่มีผลผูกพันทางกฏหมาย เพื่อไม่ให้องค์การนาโต้ขยายอิทธิพลเข้าไปยังยุโรปตะวันออกในส่วนที่ติดกับรัสเซียเพิ่มอีก รวมทั้งจะไม่มีการติดตั้งอาวุธบางอย่างในประเทศที่มีพรมแดนติดกับรัสเซีย ซึ่งรวมถึงยูเครนด้วย

  • ที่มา: สำนักข่าวเอพีและรอยเตอร์
XS
SM
MD
LG