ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน พบกับผู้นำอิสราเอลในวันพฤหัสบดี ที่กรุงเทลอาวีฟ ในภารกิจเยือนตะวันออกกลางครั้งแรกนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง และได้มีการลงนามในปฏิญญาด้านความมั่นคงฉบับใหม่ร่วมกับนายกรัฐมนตรีรักษาการของอิสราเอล จาอีร์ ลาปิด
เอกสารปฏิญญาดังกล่าวระบุว่า สหรัฐฯ จะไม่ยินยอมให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง และจะใช้ทุกวิธีเพื่อรับประกันในเรื่องนี้ นอกจากนี้ สหรัฐฯ จะทำงานร่วมกับประเทศอื่นเพื่อรับมือความก้าวร้าวของอิหร่านและการกระทำที่บั่นทอนความมั่นคง ไม่ว่าจะทางตรงหรือผ่านกลุ่มก่อการร้ายต่าง ๆ ที่อิหร่านให้การสนับสนุน
ทั้งนี้ อิสราเอลคือผู้คัดค้านการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านที่จัดทำขึ้นเมื่อปีค.ศ. 2015 ระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจ 6 ประเทศ ซึ่งในขณะนั้น ไบเดนดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ก่อนที่รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนสหรัฐฯ ออกจากสนธิสัญญาดังกล่าวเมื่อปีค.ศ. 2018
อย่างไรก็ตาม มีความพยายามอย่างต่อเนื่องภายใต้รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบัน ที่จะนำอิหร่านกลับมาทำสัญญานี้อีกครั้ง รวมทั้งการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายที่จัดขึ้นที่กรุงเวียนนาเมื่อเร็ว ๆ นี้
ปฏิญญาด้านความมั่นคงสหรัฐฯ - อิสราเอล ยังระบุถึงคำมั่นของผู้นำสหรัฐฯ ในการสนับสนุน "แนวทางสองรัฐ" หรือ two-state solution เพื่อให้ทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียมทั้งในด้านความมั่นคง เสรีภาพและความรุ่งเรือง โดยสหรัฐฯ ยินดีทำงานร่วมกับอิสราเอล ปาเลสไตน์ และชาติอื่นๆ ในภูมิภาคนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
กำหนดการต่อไปของไบเดน
ปธน.ไบเดน มีกำหนดพบหารือกับผู้นำอิสราเอล อินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในการประชุมระดับผู้นำครั้งแรกของกลุ่ม I2U2 ซึ่งจะมุ่งเน้นที่ความร่วมมือด้านพลังงาน น้ำ ความมั่นคงด้านอาหาร การคมนาคมขนส่ง สุขภาพ และอวกาศ
นอกจากนี้ ปธน.ไบเดน มีกำหนดพบกับปธน.อิสราเอล ไอแซค เฮอร์ซอก รวมทั้งผู้นำปาเลสไตน์ มาห์มูด อับบาส ต่อจากนั้น ปธน.ไบเดน จะร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่ม GCC+3 ที่ซาอุดิอาระเบีย ร่วมกับประเทศสมาชิกสภาความร่วมมือแถบอ่าวเปอร์เซีย คือ บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) นอกจากนี้ยังมีอียิปต์ อิรัก และจอร์แดน เข้าร่วมด้วย
ปธน.ไบเดน มีกำหนดเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานแห่งซาอุดิอาระเบีย และเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมาร เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
วัตถุประสงค์สำคัญอย่างหนึ่งของปธน.ไบเดน ในการเยือนตะวันออกกลางครั้งนี้ คือการกระตุ้นให้ประเทศแถบอ่าวเปอร์เซียเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันเพื่อบรรเทาวิกฤติพลังงานโลก พร้อมกับให้คำมั่นว่าสหรัฐฯ มิได้ลดความสำคัญของภูมิภาคนี้ลง ท่ามกลางสงครามในยูเครนกับการแข่งขันจากจีน
- ที่มา: วีโอเอ