ผลการสำรวจความคิดเห็นล่าสุดที่ร่วมจัดทำโดยหนังสือพิมพ์ The New York Times และ Siena College แสดงให้เห็นว่า สมาชิกพรรคเดโมแครตส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้พรรคของตนเสนอชื่อ โจ ไบเดน เป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 2024 แต่ต้องการเห็นผู้แทนพรรคหน้าใหม่มากกว่า
การสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้สอบถามผู้ที่วางแผนจะลงคะแนนในการเลือกตั้งขั้นต้นของพรรคเดโมแครต ว่า ต้องการจะให้พรรคเสนอชื่อ ปธน.ไบเดน ลงสมัครเป็นสมัยที่ 2 หรือไม่ และมีเพียง 26% เท่านั้นที่ต้องการเช่นนั้น ขณะที่ 64% ระบุว่า ตนต้องการเห็นผู้ลงสมัครใหม่แทน
ผลการสำรวจนี้แสดงให้เห็นถึงเส้นทางที่น่ากังวลในตำแหน่งผู้นำประเทศของปธน.ไบเดน ซึ่งกำลังตกเป็นเป้าโจมตีจากประชาชนที่ไม่พอใจกับปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูง และการที่พรรคเดโมแครตไม่สามารถผลักดันนโยบายต่าง ๆ ของตนผ่านด่านวุฒิสภาที่อยู่ในภาวะเสียงแตกเป็นสองฝ่ายอยู่
ในส่วนของผลสำรวจด้านบวกนั้น มีการถามว่า หากในการเลือกตั้งปี 2024 นั้น ต้องเป็นการแก้มือระหว่างปธน.ไบเดน และอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พบว่า ปธน.คนปัจจุบันน่าจะได้คะแนนเสียง 44% เหนืออดีตปธน.ทรัมป์ที่เชื่อว่าจะได้คะแนนเสียง 41%
อายุ คือ ปัจจัยหลัก
เมื่อถาม ผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นสมาชิกพรรคเดโมแครตที่ระบุว่า อยากเห็นตัวแทนพรรคหน้าใหม่ลงชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ในอีก 2 ปีข้างหน้า ว่า ทำไมถึงไม่ต้องการให้ปธน.ไบเดน ลงสมัครอีกครั้ง 1 ใน 3 บอกว่า เพราะอายุที่ค่อนข้างสูงของผู้นำคนปัจจุบัน
ไบเดน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในวัย 79 ปี ถือเป็นผู้ที่มีอายุมากที่สุดที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และในปี 2024 ที่จะมีการเลือกตั้งรอบใหม่ เขาก็จะมีอายุถึงเกือบ 82 ปีแล้ว
ทั้งนี้ ราว 60% ของผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปเป็นผู้ที่ให้เหตุผลว่า อายุคือปัจจัยสำคัญที่อยากให้เปลี่ยนตัวผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งหน้า ขณะที่ ในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่มีอายุระหว่าง 18 และ 35 ปีนั้น มีเพียง 14% เท่านั้นที่ยกประเด็นอายุของปธน.ไบเดนขึ้นมาเป็นเหตุผล
นอกจากนั้น 32% ของผู้ร่วมการสำรวจที่ต้องการเปลี่ยนตัวแทนผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องของผลงานของปธน.ไบเดน ขณะที่ 12% ระบุว่า ตนต้องการเพียงเห็นคนหน้าใหม่ และ 10% ให้ความเหตุผลว่า เป็นเพราะปธน.ไบเดน “ไม่ใช่ผู้ที่มีหัวก้าวหน้ามากพอ”
หลายคนติง สหรัฐฯ กำลังมุ่งไป ‘ในทิศทางที่ผิด’
ผลการสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้ยังพบว่า 77% ของชาวอเมริกันเชื่อว่า สหรัฐฯ กำลังเดินหน้าไปในทิศทางที่ผิด ขณะที่ มีเพียง 13% เท่านั้นที่เชื่อว่า ประเทศกำลังก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง
เมื่อลงลึกไปในรายละเอียดด้านพื้นฐานความคิดทางการเมืองของผู้ตอบแบบสอบถามแล้ว ผู้ทำการสำรวจชี้ว่า 89% ของผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกัน และ 81% ของผู้ลงคะแนนเสียงอิสระ พร้อม 63% ของผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครต คือ ผู้ตอบว่า “สหรัฐฯ กำลังเดินหน้าไปในทางที่ผิดอยู่”
และเมื่อดูปัจจัยด้านเชื้อชาติ ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน คือ กลุ่มที่มองโลกในแง่ร้ายน้อยที่สุด ด้วยสัดส่วนผู้ตอบคำถามดังกล่าวที่ 54% เทียบกับสัดส่วน 82% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นคนผิวขาว
คะแนนเสียง ‘ไบเดน’ ที่ตกต่ำ
และเมื่อถามว่า ยังเห็นด้วยกับวิธีที่ปธน.ไบเดน ดำเนินงานต่าง ๆ หรือไม่ มีเพียง 33% เท่านั้นที่ยังเห็นด้วยอยู่ แต่เมื่อลงลึกไปดูในกลุ่มการเมืองแล้ว พบว่า ผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตราว 70% ที่ยังนิยมชมชอบในตัวผู้นำคนปัจจุบันอยู่ แต่ตัวเลขนี้ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำอยู่ดี ขณะที่ ทางฝั่งผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันนั้น มีเพียง 8% เท่านั้นที่ยังให้คะแนนบวกต่อปธน.ไบเดนอยู่
และเมื่อผู้ทำการสำรวจขอให้ผู้ตอบแบบสอบถาม แยกแยะความรู้สึกที่มีต่อ ‘โจ ไบเดน’ ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี และพิจารณาว่า มีความรู้สึกด้านบวกหรือไม่ คำตอบที่ได้มาก็ไม่ต่างจากคำถามก่อนหน้าเท่าใด ไม่ว่าจะมองในฐานะคน ๆ หนึ่ง หรือผู้นำประเทศ
สัญญาณลบ สำหรับการเลือกตั้งกลางเทอม
ไคล์ คอนดิก บรรณาธิการบริหารของวารสารออนไลน์ Sabato’s Crystal Ball ของศูนย์ Center for Politics แห่ง University of Virginia บอกกับ วีโอเอ ว่า คะแนนนิยมของปธน.ไบเดนในการสำรวจครั้งล่าสุดนี้ต่ำกว่าคะแนนที่เคยสำรวจได้ในครั้งก่อน ๆ อย่างมาก ทั้งยังเป็นสัญญาณน่าห่วงสำหรับตัวปธน.ไบเดน และพรรคเดโมแครตด้วย
คอนดิก กล่าวว่า “ตัวเลขนี้ค่อย ๆ ลดลงติดต่อกันเป็นเวลานานแล้ว นับตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว” และกล่าวเสริมว่า แรงกัดเซาะที่เกิดขึ้นต่อความนิยมของปธน.ไบเดนที่มามาสักพักนี้มีท่าทีว่าจะดำเนินต่อไป และถ้าถามว่า นี่คือจุดต่ำสุดแล้วหรือยัง คำตอบคือ ยังไม่ถึงจุดนั้นเลยในเวลานี้
ประเด็นดังกล่าว ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับพรรคเดโมแครตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อการเลือกตั้งกลางเทอมจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะเป็นจุดชี้ขาดว่า พรรคใดจะได้คุมเสียงข้างมากในสภาคองเกรสในช่วง 2 ปีข้างหน้า และ คอนดิก ระบุว่า “โดยปกติ คะแนนนิยมที่ตกต่ำนั้น คือ ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผลการเลือกตั้งกลางเทอมสำหรับพรรคของผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น ออกมาไม่ดี”
ความไม่แน่นอนของทิศการเลือกตั้งขั้นต้น
ก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวว่า สมาชิกพรรคเดโมแครตหลายรายอยากจะให้ปธน.ไบเดน ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ซึ่งทำให้เกิดการคาดการณ์ว่า พรรคนี้อาจนำเสนอผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งคนใหม่มาท้าชิงในการเลือกตั้งขั้นต้นก็เป็นได้
แม้ว่า การที่พรรคหนึ่ง ๆ จะเสนอผู้สมัครมาท้าชิงสมาชิกพรรคที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในขณะนั้น เพื่อเป็นตัวแทนของพรรคลงสนามเลือกตั้งทั่วประเทศจะไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 1992 เมื่ออดีตประธานาธิบดีจอร์จ เอช.ดับเบิลยู. บุช ถูก แพ็ต บุคาแนน สมาชิกพรรครีพับลิกันหัวอนุรักษ์นิยมไฟแรงท้าชิงเป็นตัวแทนพรรคในการเลือกตั้งขั้นต้น
ก่อนหน้านั้นในปี ค.ศ. 1980 จิมมี่ คาร์เตอร์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ สังกัดพรรคเดโมแครต ก็เคยถูก ส.ว.เอ็ดเวิร์ด เคนเนดี้ จากรัฐแมสซาชูเซตส์ ท้าชิงในการเลือกตั้งขั้นต้น เช่นเดียวกับกรณีของอดีตประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด ที่สังกัดพรรครีพับลิกัน ที่ถูกอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ท้าชิงเมื่อปี ค.ศ. 1976
อย่างไรก็ดี อดีตประธานาธิบดีทั้ง 3 คนสามารถเอาชนะผู้ท้าชิงในการเป็นผู้แทนพรรคลงสนามเลือกตั้งผู้นำประเทศได้ ก่อนจะแพ้ให้กับคู่แข่งจากพรรคตรงข้ามในที่สุด
สำหรับกรณีของปธน.ไบเดน ที่ยืนยันว่า จะลงสมัครรับเลือกตั้งอีกรอบแน่ ๆ และยังไม่มีสมาชิกพรรคเดโมแครตคนใดที่แสดงตนว่า สนใจจะขึ้นมาท้าชิงในเวลานี้ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า หากคะแนนนิยมของไบเดนยังลดลงต่อไปเรื่อย ๆ โอกาสที่จะมีนักการเมืองสังกัดพรรคเดโมแครตก้าวออกมาขอเป็นตัวเลือกในการเลือกตั้งขั้นต้นของพรรคก็จะสูงตามขึ้นไป
คริส สไตเออร์วอลต์ นักวิชาการจาก American Enterprise Institute ระบุความเห็นในอีเมล์ที่ส่งให้ วีโอเอ ว่า “ประเด็นของผู้ที่อยู่ในตำแหน่งและเริ่มเสื่อมความนิยมก็คือ ปัญหาต่าง ๆ และข้อจำกัดทั้งหลายของคน ๆ นั้น เป็นเรื่องชัดเจนเป็นรูปธรรมอยู่แล้ว ขณะที่ เรื่องของความได้เปรียบหรือเสียเปรียบของผู้ที่จะมาแทนที่นั้นยังเป็นเรื่องสมมติอยู่”
เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 หลายคนคงจำได้ว่า ปธน.ไบเดน เรียกตัวเองว่า เป็นนักเจรจาที่จะช่วยแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างระหว่างเดโมแครตและรีพับลิกันในการผลักดันกฎหมายสำคัญ ๆ ทั้งหลาย และนับตั้งแต่ก้าวขึ้นรับตำแหน่งมา ผู้นำคนปัจจุบันก็สามารถผลักดันร่างกฎหมายที่ได้รับการสนับสนุนจากทั้งสองพรรคใหญ่มาได้หลายฉบับ ทั้ง การยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดจากปืน ซึ่งถูกใจคนเกือบทั้งประเทศ แต่ความเป็นจริงก็คือ ปธน.ไบเดน ยังไม่ประสบความสำเร็จในการทำให้นโยบายสำคัญ ๆ ของพรรคเดโมแครตกลายเป็นจริงได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปกป้องสิทธิการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน การส่งเสริมโอกาสด้านการศึกษา หรือ การให้ความช่วยเหลือผู้มีฐานะยากจน เป็นต้น
ที่มา: วีโอเอ