คณะกรรมาธิการตุลาการสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินหน้าพิจารณาการผลักดันใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดที่มีอยู่ 6 ฉบับ โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อฉบับที่พุ่งเป้าไปยังบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั้งหลายเป็นหลัก และเน้นมาตรการที่จะบังคับให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องขายธุรกิจของตนที่ใช้พื้นแพลตฟอร์มของบริษัท แต่ดำเนินงานในแบบที่แข่งขันกับผู้อื่นไปด้วย
สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า ส.ส.เดวิด ซิซิลลินี สังกัดพรรคเดโมแครตและเป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านการต่อต้านการผูกขาด กล่าวว่า กฎหมายที่มีเนื้อหาดังกล่าวบีบให้บริษัทขนาดใหญ่ทั้งหลายต้องเลือกว่า จะเดินหน้าทำธุรกิจบริหารแพลตฟอร์ม หรือดำเนินธุรกิจหลากหลายเพื่อแข่งขันกันเองในแพลตฟอร์ม พร้อมชี้ว่า “กูเกิล (Google) แอมะซอน (Amazon) และ แอปเปิล (Apple) ต่างก็สนับสนุนผลิตภัณฑ์ของตนเองเหนือของคนอื่น เวลาที่โปรแกรมค้น (Search Engine) แสดงผลลัพธ์ให้ผู้ใช้งานดู ทำให้บริษัทเหล่านี้ได้เปรียบเหนือคู่แข่งอย่างไม่เป็นธรรม”
แต่ความพยายามที่จะผลักดันใช้มาตรากฎหมายนี้ ถูกต่อต้านจากบริษัทที่ตกเป็นเป้าดังที่กล่าวมา รวมทั้ง เฟสบุ๊ค (Facebook) และหอการค้าสหรัฐฯ ด้วย
ขณะเดียวกัน ส.ส.บางส่วนจากทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน กังวลว่า เนื้อหาของกฎหมายต่อต้านการผูกขาดฉบับดังกล่าวมีความเข้มข้นรุนแรงไป อาทิ ส.ส.จิม จอร์แดน สังกัดพรรครีพับลิกัน ซึ่งผู้ที่ไม่เห็นด้วย และให้เหตุผลว่า กฎหมายนี้ไม่ได้จะช่วยแก้ไขปัญหาความกังวลใจเกี่ยวกับการปิดปากของผู้ใช้งานหัวอนุรักษ์นิยมไม่ให้ใช้พื้นที่แสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นเรื่องที่ “เป็นความน่าห่วงที่แท้จริง” ยิ่งกว่า
อย่างไรก็ดี หลังการอภิปรายต่อเนื่องตลอดวันพุธมาจนถึงวันพฤหัสบดี คณะกรรมาธิการตุลาการสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ลงมติอนุมัติร่างกฎหมาย 5 ใน 6 ฉบับ โดย 3 ฉบับที่ได้รับการอนุมัติมีเนื้อหาที่พุ่งเป้าการบังคับใช้ไปยังบรรดาบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำต่างๆ โดยบังคับไม่ให้บริษัทเหล่านี้สร้างความเสียเปรียบให้กับคู่แข่งที่มาใช้แพลตฟอร์มของตน และบังคับให้ธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งหลายที่กำลังพิจารณาควบรวมกิจการให้แสดงหลักฐานว่า เป็นการดำเนินงานที่ถูกกฎหมาย แทนที่จะปล่อยให้เจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบงานต่อต้านการผูกขาดเป็นผู้ทำการพิสูจน์ เป็นต้น
นอกจากนั้น คณะกรรมาธิการชุดนี้ยังลงมติเพิ่มงบประมาณให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดอีกด้วย