สหรัฐฯ ออกมาตรการลงโทษบริษัทไม้ Myanma Timber Enterprise และบริษัทไข่มุก Myanmar Pearl Enterprise ของรัฐบาลทหารเมียนมา เพื่อกดดันรัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจปกครองประเทศมาตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์
แอนเดรีย กัคคิ ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างชาติ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า กองทัพเมียนมามีรายได้อย่างมากจากรัฐวิสาหกิจในตลาดแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ โดยการตัดสินใจของสหรัฐฯ ครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงการที่สหรัฐฯ ยึดมั่นพุ่งเป้าไปที่ช่องทางเงินทุน และทำให้ผู้ที่ทำรัฐประหารและก่อความรุนแรงต้องมีส่วนรับผิดชอบ
แถลงการณ์ของกระทรวงฯ ระบุว่า บริษัท Myanma Timber Enterprise “รับผิดชอบต่อการผลิตและการส่งออกไม้ในนามของรัฐบาลทหารพม่า” ในขณะที่บริษัท Myanmar Pearl Enterprise “รับผิดชอบต่อการประมงหอยนางรม การจับ เพาะพันธุ์หอยนางรม เลี้ยงและเก็บไข่มุก และขายไข่มุก” และทั้งสองบริษัทเป็น “แหล่งสร้างรายได้หลักของรัฐบาล”
ทางด้านรัฐบาลทหารเมียนมายังไม่มีท่าทีต่อมาตรการลงโทษครั้งล่าสุดนี้โดยทันที
ทั้งนี้ กองทัพเมียนมายึดอำนาจปกครองประเทศจากรัฐบาลพลเรือนมาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ และคุมขังออง ซาน ซูจี ผู้นำพลเรือนและเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่น ๆ และนับแต่นั้นมาก็มีการประท้วงและการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงโดยรัฐบาล กองกำลังและตำรวจสังหารพลเรือนไปหลายร้อยคน รวมถึงเด็ก ๆ หลายสิบคน
ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ได้มีมาตรการลงโทษผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา สมาชิกครอบครัวบางส่วน และธุรกิจในเมียนมาส่วนหนึ่ง โดยในช่วงเดือนที่ผ่านมา สหรัฐฯ ลงโทษบริษัทอัญมณี Myanma Gems Enterprise โดยระบุว่าเป็นบริษัทที่ “รับผิดชอบต่อกิจการอัญมณีทั้งหมดในพม่า”
สหรัฐฯ ยังเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนางซูจี ประธานาธิบดีวิน มินต์ ผู้ประท้วง ผู้สื่อข่าว และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนที่สหรัฐฯ ระบุว่า ถูกคุมตัวอย่างไม่เป็นธรรมนับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร
ทั้งนี้ กองทัพเมียนมาอ้างว่ามีการโกงเลือกตั้งในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางซูจีชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย เพื่อเป็นเหตุก่อรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ แม้ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งของเมียนมาจะปฏิเสธข้อกล่าวหาการโกงดังกล่าวก็ตาม