อดีตเลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) บัน คี-มุน ออกมาประณามเหตุนองเลือดในเมียนมา พร้อมเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและอาเซียนให้ลงมือดำเนินการที่จำเป็นโดยด่วน “เพื่อป้องกันภัยภยันตรายใหญ่หลวง” และความรุนแรงที่อาจยกระดับเพิ่มขึ้นจากนี้
บัน คี-มูน อดีตเลขาธิการใหญ่ยูเอ็น กล่าวในวันจันทร์ว่า ตนขอ “ประณามความโหดเหี้ยมในการใช้กำลังที่อาจทำให้ถึงตายต่อพลเรือนทั้งหลาย และการคุมขัง นางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐพม่า และประธานาธิบดี วิน มินท์ รวมทั้งผู้ชุมนุมนับพัน” ด้วย
สถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมาที่เกิดขึ้นหลังประชาชนออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านการก่อรัฐประหารโดยกองทัพเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และกองทัพส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ปราบปราม ส่งผลให้มีพลเรือนเสียชีวิตแล้วไม่น้อยกว่า 700 คน ซึ่งรวมถึงเด็กหลายสิบคนด้วย ตามรายงานของกลุ่มปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่ม
บัน คี-มูน ซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกของกลุ่มเอลเดอร์ส (The Elders) อันประกอบด้วยผู้นำโลกต่างๆ ที่มาร่วมระดมความคิดในการแก้ไขปัญหาสำคัญๆของโลก เคยมีบทบาทในการช่วยนำพาเมียนมาให้กลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอดีตเลขาธิการใหญ่ยูเอ็น ได้พยายามติดต่อกองทัพเมียนมา เพื่อขอเดินทางเข้าประเทศ แต่คำขอนั้นถูกรัฐบาลทหารเมียนมาปฏิเสธไป
บัน กล่าวว่า “ภาระหน้าที่ที่รออยู่เบื้องหน้านั้นเต็มไปด้วยสิ่งท้าทายอันน่ากลัว และต้องการความร่วมมือร่วมใจจากยูเอ็น อาเซียน และประเทศต่างๆ ในภูมิภาค เพื่อช่วยหลีกลี้ภัยพิบัติ และนำพาเมียนมากลับคืนสู่เส้นทางของการเปลี่ยนถ่ายตามระบอบประชาธิปไตยอย่างสันติ”
อดีตเลขาธิการใหญ่ยูเอ็น ยังกล่าวด้วยว่า ทุกกลุ่มที่กล่าวมานั้นมี “โอกาสไม่มาก” ที่จะร่วมมือกันเพื่อยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมา พร้อมเรียกร้องให้ อันโตนิโอ กูเทอเรซ เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติคนปัจจุบัน ให้ติดต่อกับกองทัพเมียนมาโดยตรงเพื่อระงับเหตุรุนแรงต่างๆ ไม่ให้ยกระดับขึ้นด้วย
ในส่วนของอาเซียนนั้น บัน ระบุว่า สมาชิกกลุ่มทั้งหลายต้องสามัคคีกัน และยุตินโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิกได้แล้ว
ในวันที่ 24 เมษายนนี้ ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนมีกำหนดเข้าประชุมสุดยอดนัดพิเศษที่อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ เพื่อหารือประเด็นสถานการณ์ในเมียนมา
นอกจากนั้น อดีตเลขาธิการใหญ่ยูเอ็น ได้ร้องขอให้ประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ให้ลงมือทำการใดๆ ในเรื่องนี้ เพื่อ “ปกป้องพลเมืองของเมียนมา” ด้วยการพิจารณาใช้เครื่องมือต่างๆ ที่มีอยู่ โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดใดๆ
ทั้งนี้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ มีอำนาจในการดำเนินการหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงการลงโทษทางเศรษฐกิจและคำสั่งห้ามซื้อขายอาวุธ แต่ยังไม่มีการลงมติดำเนินการใดๆ เนื่องจากเชื่อกันว่าจะถูกต่อต้านอย่างหนักจากจีน ที่เป็นสมาชิกพร้อมอำนาจวีโต้
หวางยี่ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ซึ่งเข้าร่วมการประชุมระดับสูงของคณะมนตรีที่จัดขึ้นแบบออนไลน์ ส่งสัญญาณชัดเจนว่า จีนไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว และย้ำจุดยืนของรัฐบาลกรุงปักกิ่งที่ปฏิเสธคำขู่การใช้กำลัง พร้อมกล่าวว่า การเจรจาสันติภาพและกระบวนการไกล่เกลี่ยคือหนทางที่เหมาะสมกว่า ทั้งยังเรียกร้องให้สมาชิกอาเซียนร่วมผลักดันกระบวนการปรองดองสมานฉันท์ตามหนทางของกลุ่ม เพื่อลดความตึงเครียดในเมียนมาด้วย