การประท้วงต่อต้านรัฐประหารทั่วเมียนมาที่ดำเนินมานานนับเดือน ส่งผลให้ประเพณีเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปลี่ยนรูปแบบกลายมาเป็น ‘การประท้วงเงียบ’ แทน ขณะที่ องค์การอนามัยโลก เตือนว่า สถานการณ์อาจย่ำแย่ลงจนกลายมาเป็น “ความขัดแย้งเต็มรูป” ได้
การก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เพื่อยึดอำนาจจาก อองซานซูจี และรัฐบาลพลเรือน ที่นำมาซึ่งการเดินขบวนประท้วงทั่วประเทศจนถึงปัจจุบัน ทำให้การเฉลิมฉลองเทศกาลตะจาน (Thingyan) ซึ่งเป็นวันปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติของเมียนมา นาน 5 วัน กลายมาเป็นพื้นที่ประท้วงรูปแบบใหม่แทน
รายงานข่าวระบุว่า จากปกติที่ประชาชนจะฉลองวันปีใหม่ตามประเพณีซึ่งรวมถึงการเล่นน้ำ เช่นในเทศกาลสงกรานต์ของไทย ชาวเมียนมาเลือกที่จะวาดภาพสัญลักษณ์และเขียนคำขวัญเกี่ยวกับประชาธิปไตยต่างๆ อาทิ ภาพชู 3 นิ้ว บนกระถางดอกไม้ที่ผู้คนมักนำออกมาประดับในช่วงเทศกาลนี้แทน
อย่างไรก็ดี การที่กองทัพเมียนมาใช้มาตรการรุนแรงเพื่อปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 700 ราย ตามข้อมูลขององค์กร Assistance Association for Political Prisoners (AAPP) ทำให้ มิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์ที่ระบุว่า สถานการณ์ในเมียนมา “กำลังเดินหน้าไปสู่การเป็นสภาวะความขัดแย้งเต็มรูป” เช่นเดียวกับกรณีสงครามกลางเมืองที่ดำเนินอยู่ในประเทศซีเรีย
บาเชเลต์ กล่าวด้วยว่า “เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า การออกแถลงกรณ์ประณาม และการลงโทษทางเศรษฐกิจอย่างจำกัดนั้นไม่เพียงพอ” และว่า “รัฐใดๆ ที่มีอิทธิพลเพียงพอ จำต้องเร่งกดดันกองทัพเมียนมาให้ยุติการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง รวมทั้งเหตุอันอาจเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ได้แล้ว”