ทางการรัสเซียเผยว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย อาจพบหารือกันในเดือนนี้ ด้านผู้นำสหรัฐฯ เรียกประธานาธิบดียูเครนว่าเป็น “ผู้นำเผด็จการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” พร้อมกดดันให้ผู้นำยูเครนต้องเร่งหาทางเจรจาสันติภาพ
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ โพสต์ผ่านทรูธ โซเชียล ในวันพุธว่า “ผู้นำเผด็จการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เซเลนสกีควรจะเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วหรือจะไม่มีประเทศเหลืออยู่”
ท่าทีของทรัมป์ เกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงที่ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน กล่าวเมื่อวันพุธว่า ผู้นำสหรัฐฯ กำลังหลงเชื่อกับข้อมูลเท็จที่รัสเซียสร้างขึ้นมา จากกรณีที่ทรัมป์วิจารณ์ผู้นำยูเครนในการคัดค้านการหารือสงครามยูเครน ที่เกิดขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ และรัสเซีย ที่ซาอุดีอาระเบียว่า “วันนี้ผมได้ยินว่า “เรา(ยูเครน)ไม่ได้รับเชิญ” คุณก็อยู่ที่นั่นมา 3 ปีแล้ว คุณควรยุติมันเสียที” และว่า “คุณไม่ควรจะเริ่มมัน(สงคราม)เลย”
ทั้งนี้ รัสเซียเริ่มต้นสงครามกับยูเครน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022 ด้วยการส่งทหารรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ
ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน อันดรี ไซบีฮา โพสต์ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ X ว่า ไม่มีใครสามารถบีบบังคับให้ประเทศของเขาต้องยอมแพ้ได้ และ “เราจะปกป้องสิทธิ์ในการดำรงอยู่ของเรา”
ตอนนี้ วาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปีของเซเลนสกี ควรสิ้นสุดลงในปี 2024 แต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภายูเครนไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้กฎอัยการศึก ซึ่งยูเครนบังคับใช้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 เพื่อรับมือกับการรุกรานเต็มรูปแบบของรัสเซีย
เซเลนสกี กล่าวหลังการพบหารือกับผู้ช่วยประธานาธิบดีและผู้แทนพิเศษประจำยูเครนและรัสเซีย พลตรีคีธ เคลลอกก์ ที่กรุงเคียฟในวันพุธด้วยว่า ต้องการให้ทีมงานทรัมป์รับทราบ “ความจริงที่มากกว่านี้” เกี่ยวกับยูเครน และว่าถ้อยความที่ทรัมป์กล่าวว่าความนิยมในตัวเซเลนสกีมีแค่ 4% คือข้อมูลเท็จของรัสเซีย และว่าความพยายามที่จะหาคนมาแทนที่เขาจะล้มเหลว
ในการสำรวจความเห็นจาก Kyiv International Institute of Sociology เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ระบุว่า ชาวยูเครน 57% ยังคงเชื่อมั่นในตัวเซเลนสกี
ด้านพลตรีเคลลอกก์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่กรุงเคียฟว่า ตนมาเยือนยูเครน “เพื่อรับฟัง” ข้อกังวลของผู้นำยูเครนและนำกลับไปหารือกับประธานาธิบดีทรัมป์ และว่าสหรัฐฯ ต้องการให้สงครามยูเครนสิ้นสุดลง โดยกล่าวว่าจะเป็นการดีต่อภูมิภาคและโลก
การหารือที่กรุงเคียฟในวันพุธ มีขึ้นหลังจากความพยายามด้านการทูตในหลายด้านที่มุ่งเน้นสงครามรัสเซียในยูเครน โดยในวันเดียวกันนี้ ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาคร็อง แห่งฝรั่งเศส เป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำยุโรปเป็นครั้งที่ 2 เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งการสนับสนุนยูเครนของกลุ่มประเทศยุโรป
เจรจาสันติภาพยูเครนที่ไม่มียูเครน
ก่อนหน้านี้ พลตรีเคลลอกก์ พบหารือผู้นำยุโรปในวันอังคาร ระหว่างที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มาร์โค รูบิโอ หารือกับเจ้ากระทรวงต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เก ลาฟรอฟ ที่ซาอุดีอาระเบีย
รมต.รูบิโอ กล่าวกับผู้สื่อข่าวในวันอังคารว่ายูเครนและรัสเซียต้องยอมประนีประนอมเพื่อบรรลุเป้าหมายสันติภาพ “เป้าหมายคือการยุติความขัดแย้งในหนทางที่ยุติธรรม ถาวร ยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” อย่างไรก็ตาม การหารือที่เกิดขึ้นนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ของยูเครนและยุโรปอยู่ในการเจรจาแต่อย่างใด
ในวันอังคาร ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ได้เลื่อนแผนการเยือนซาอุดีอาระเบีย เพื่อแสดงจุดยืนในการไม่ยอมรับ “ความชอบธรรม” ในการหารือระหว่างเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และรัสเซียในกรุงริยาร์ด อ้างอิงจากแหล่งข่าวสองรายที่เผยข้อมูลกับรอยเตอร์
ผู้นำยูเครน กล่าวเมื่อวันอังคารที่ตุรกีว่า ได้เลื่อนกำหนดการเยือนซาอุดีอาระเบียไปจนถึง 10 มีนาคมนี้ และว่าตนไม่ได้รับเชิญให้ร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และรัสเซียในวันอังคาร พร้อมกล่าวว่า “เราไม่ต้องการให้ใครมาตัดสินใจอะไรลับหลังเรา ... ไม่มีการตัดสินใจใด ๆ เกี่ยวกับหนทางยุติสงครามเกิดขึ้นได้โดยปราศจากยูเครน”
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แทมมี บรูซ ระบุในแถลงการณ์ว่า สหรัฐฯ และรัสเซีย เห็นชอบที่จะ “แต่งตั้งทีมงานเจ้าหน้าที่ระดับสูงเพื่อเริ่มหาหนทางยุติความขัดแย้งในยูเครนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” และว่าการประชุมเมื่อวันอังคารระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียเป็น “ก้าวสำคัญ” ในการสร้างสันติภาพ
รมต.รูบิโอ เสริมว่า ยูเครนและยุโรปต้องมีความเกี่ยวข้องในการหารือเพื่อยุติสงครามนี้ และว่าหากระงับการสู้รบไปได้ สหรัฐฯ จะมี “โอกาสมากมาย .. ในการเป็นหุ้นส่วน” กับรัสเซียด้านการค้าและประเด็นต่าง ๆ ระดับโลก
ฝั่งคายา คาลลัส หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศอียู กล่าวว่าเธอและรัฐมนตรีต่างประเทศยุโรป ได้พูดคุยกับรมต.รูบิโอ หลังการหารือสหรัฐฯ-รัสเซีย และแสดงการสนับสนุนแนวทางยุติสงครามที่ยูเครนเป็นแกนนำ โดยโพสต์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ X ว่า “รัสเซียพยายามจะแบ่งแยกเรา อย่าไปตกหลุมพราง” และว่า “ด้วยการทำงานร่วมกันกับสหรัฐฯ เราจะบรรลุสันติภาพที่ยุติธรรมและยั่งยืน - บนเงื่อนไขของยูเครน”
ณ เวลานี้ รัสเซียควบคุมดินแดนราว 1 ใน 5 ของยูเครน รวมทั้งแหลมไครเมียที่รัสเซียผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งเมื่อปี 2014 โดยเมื่อสงครามปะทุขึ้นในปี 2022 รัสเซียหวังว่าจะเข้ายึดครองยูเครนอย่างรวดเร็ว แต่ด้วยแรงต้านของยูเครน สงครามนี้ได้ยกระดับเป็นการโจมตีภาคพื้นดินและทางอากาศที่เกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่ายแบบรายวัน
ผู้นำยูเครนได้เรียกร้องมานานในการทวงคืนดินแดนของยูเครนเหมือนช่วงก่อนปี 2014 ซึ่งเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวว่าเป็นเป้าหมายที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง เช่นเดียวกับความต้องการเข้าร่วมองค์การนาโต้ของยูเครน
ประชุมสุดยอดทรัมป์-ปูติน
ทรัมป์กล่าวว่าตนจะพบหารือกับปูตินในเดือนนี้ ขณะที่รัฐบาลรัสเซียระบุว่า การพบกันของทั้งคู่ต้องใช้เวลาเตรียมการนานกว่านั้น แต่ทางกองทุนความมั่งคั่งรัสเซีย คาดหมายว่าบริษัทอเมริกันจะกลับมาในรัสเซียได้เร็วที่สุดในไตรมาส 2 ของปีนี้
ในวันพุธ ปูติน กล่าวว่ายูเครนไม่ควรถูกกีดกันจากการเจรจาสันติภาพ แต่ความสำเร็จของการหารือนั้นขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นระหว่างรัฐบาลมอสโกและรัฐบาลวอชิงตัน และว่าอาจต้องใช้เวลาเพื่อเตรียมการประชุมสุดยอดกับทรัมป์ ซึ่งผู้นำสองมหาอำนาจต้องการให้เกิดขึ้น
โดยปูตินกล่าวผ่านการแถลงทางโทรทัศน์ในวันพุธว่า “เราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีเวลามากพอในการพบปะดื่มชา กาแฟ นั่งและคุยเกี่ยวกับอนาคตกัน” และว่า “เราต้องการแน่ใจว่าทีมงานของเราเตรียมประเด็นที่สำคัญที่สุดสำหรับสหรัฐฯ และรัสเซีย รวมถึง – แต่ไม่เพียงแค่ - ประเด็นยูเครน ในการบรรลุหนทาง(ยุติสงคราม)ที่เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย”
ก่อนหน้านี้ ทรัมป์กล่าวว่ายุโรปต้องเข้ามามีบทบาทในการรับรองข้อตกลงหยุดยิงรัสเซีย-ยูเครน ด้านเซเลนสกี แนะว่าจะให้บริษัทอเมริกันได้สิทธิ์ในการสกัดสินแร่หายากในยูเครนแลกกันการรับประกันด้านความมั่นคง แต่กล่าวว่าทรัมป์ไม่ได้รับข้อเสนอนั้น
เซเลนสกีกล่าวระหว่างแถลงข่าวว่า สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธยูเครน 67,000 ล้านดอลลาร์ และความช่วยเหลือด้านงบประมาณอีก 31,500 ล้านดอลลาร์ และว่าการที่อเมริกาเรียกร้องสินแร่หายากมูลค่าราว 500,000 ล้านดอลลาร์นั้น “ไม่ใช่การเจรจาที่จริงจัง” และตนจะไม่ขายประเทศให้สหรัฐฯ
- มีเนื้อหาบางส่วนจากเอพี เอเอฟพี และรอยเตอร์
กระดานความเห็น