เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการทูตของสหรัฐฯ และรัสเซีย พบหารือเป็นเวลาหลายชั่วโมงที่ซาอุดิอาระเบีย โดยมีประเด็นสำคัญคือการยุติสงครามในยูเครน และความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
ก่อนการเจรจาจะเริ่มขึ้น ทั้งสองฝ่ายต่างพยายามลดความคาดหวังที่จะเกิดผลลัพธ์จากการประชุมครั้งนี้ โดยระบุว่าเป็นเพียงแค่ขึ้นเริ่มต้นที่จะวางรากฐานไปสู่การเจรจาโดยตรงระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ต่อไป
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มาร์โค รูบิโอ เป็นผู้แทนของฝั่งสหรัฐฯ ร่วมกับที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ไมค์ วอลต์ซ และผู้แทนด้านกิจการตะวันออกกลาง สตีฟ วิตคอฟฟ์ หารือกับฝ่ายรัสเซียที่นำโดยรัฐมนตรีต่างประเทศ เซอร์เก ลาฟรอฟ และที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศ ยูริ อูชาคอฟ
ยูเครนไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ แต่รัฐบาลกรุงเคียฟได้ส่งผู้แทนไปยังซาอุฯ เพื่อเตรียมการล่วงหน้าสำหรับการเยือนของประธานาธิบดีโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ก่อนที่ในวันอังคาร ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ได้เลื่อนแผนการเยือนซาอุดีอาระเบีย เพื่อแสดงจุดยืนในการไม่ยอมรับ “ความชอบธรรม” ในการหารือระหว่างเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และรัสเซียในกรุงริยาร์ด อ้างอิงจากแหล่งข่าวสองรายที่เผยข้อมูลกับรอยเตอร์
ผู้นำยูเครน กล่าวเมื่อวันอังคารที่ตุรกีว่า ได้เลื่อนกำหนดการเยือนซาอุดีอาระเบียไปจนถึง 10 มีนาคมนี้ และว่าตนไม่ได้รับเชิญให้ร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และรัสเซียในวันอังคาร พร้อมกล่าวว่า “เราไม่ต้องการให้ใครมาตัดสินใจอะไรลับหลังเรา ... ไม่มีการตัดสินใจใด ๆ เกี่ยวกับหนทางยุติสงครามเกิดขึ้นได้โดยปราศจากยูเครน”
ในการให้สัมภาษณ์ต่อรายการ “Meet the Press” ของสถานีเอ็นบีซี ที่ออกอากาศเมื่อวันอาทิตย์ เซเลนสกีกล่าวว่า "เราจะไม่ยอมรับการตัดสินใจใด ๆ ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย ในเรื่องที่เกี่ยวกับยูเครน สงครามในยูเครนเกิดขึ้นกับเรา และชาวยูเครนที่เป็นฝ่ายสูญเสีย"
ความร่วมมือล่าสุดระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย กำลังสร้างความกังวลให้กับบรรดาผู้นำยุโรปที่ต่างยืนยันว่ายูคเรนต้องเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาสันติภาพเกี่ยวกับอนาคตของยูเครนเอง และชาติยุโรปก็ควรมีบทบาทสำคัญในประเด็นนี้ที่ถูกมองว่ามีผลกระทบต่อความมั่นคงของยุโรปเช่นกัน
ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาคร็อง เป็นเจ้าภาพการประชุมฉุกเฉินร่วมกับบรรดาผู้นำของยุโรปในวันจันทร์ เพื่อหารือเรื่องสถานการณ์ในยูเครนภายใต้การเปลี่ยนแปลงท่าทีของสหรัฐฯ ตลอดจนการเพิ่มความช่วยเหลือด้านการทหารให้แก่ยูเครน
ก่อนหน้านี้ ผู้นำในยุโรปหลายคนออกมายืนยันการสนับสนุนต่อยูเครน รวมทั้งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เคียร์ สตาร์เมอร์ ที่ยืนยันว่ารัฐบาลของเขาพร้อมส่งกำลังทหารเข้าไปในยูเครนเพื่อทำหน้าที่รักษาความสงบภายหลังสงครามสิ้นสุดลง ซึ่งผู้นำอังกฤษกล่าวว่าเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการรุกรานของรัสเซีย
แต่นายกรัฐมนตรีเยอรมนี โอลาฟ โชลซ์ มองว่าการหารือเรื่องนี้ยังเร็วเกินไปสำหรับสถานการณ์ในตอนนี้
ปธน.มาคร็อง แห่งฝรั่งเศส กล่าวว่า หลังการเจรจาที่กรุงปารีสเมื่อวันจันทร์ ตนได้โทรศัพท์คุยกับปธน.ทรัมป์ และปธน.เซเลนสกี และได้ยืนยันถึงความจำเป็นในการทำงานร่วมกันของสามฝ่าย คือสหรัฐฯ ยุโรป และยูเครน
โดยทางผู้นำยูเครนต้องการให้มีการรับรองที่เชื่อถือได้ต่อความมั่นคงปลอดภัยของยูเครน ไม่เช่นนั้นรัสเซียจะสามารถก่อสงครามในยูเครนอีกครั้ง หรืออาจรุกรานชาติอื่น ๆ ในยุโรปได้เช่นกัน
- ที่มา: วีโอเอ