ในวันอังคารที่ 28 มีนาคม ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้อำนาจผู้นำฝ่ายบริหาร ยกเลิกกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เคยออกมาและบังคับใช้ในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า
โดยประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า ระเบียบกฎเกณฑ์เหล่านี้เป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจ และทำให้คนอเมริกันจำนวนมากต้องตกงาน
รายละเอียดคำสั่งฝ่ายบริหารฉบับใหม่นี้ ระบุว่า
- ให้มีการทบทวนแผนพลังงานสะอาดที่ออกมาใช้ในสมัยประธานาธิบดีโอบาม่าเสียใหม่
- ให้หน่วยงานรัฐบาลทั้งหมดระบุถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการผลิตพลังงาน
- ยกเลิกมาตรการระงับการเช่าซื้อถ่านหินของรัฐบาลสหรัฐฯ
- ยกเลิกข้อจำกัดในการขุดเจาะน้ำมันแบบ Fracking
- ถอดถอนกฎเกณฑ์ของรัฐบาลที่จำกัดการปล่อยก๊าซมีเธน
นอกจากนี้ยังมีคำสั่งให้ลดเงินสนับสนุนที่ให้แก่โครงการด้านสิ่งแวดล้อมหลายโครงการ และตัดงบประมาณ ค.ศ. 2018 ของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ หรือ EPA ลงราว 31%
โดยเฉพาะเงินทุนสนับสนุนการวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกก็จะถูกตัดลงเกือบหมด
โดยขณะที่หาเสียงเลือกตั้งอยู่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เคยเรียกกฎหมายเพื่อควบคุมมลภาวะจากโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าของประธานาธิบดีโอบามาว่าเป็นเรื่องที่ "โง่เขลา"
แต่นาย Paul Crutzen นักวิทยาศาสตร์ชาวเนเธอร์แลนด์ ผู้เคยได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี ค.ศ. 1995 จากผลงานที่ช่วยอธิบายเรื่องการเจือจางของชั้นโอโซนในบรรยากาศโลก ให้ความเห็นว่า
"คำสั่งผู้นำฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ดังกล่าว จะสร้าง "หายนะ" เพราะจะทำลายผลงานความสำเร็จของนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงที่ผ่านมา และตนไม่คิดว่านักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่จะพอใจเรื่องนี้"
ส่วนนาย Tim Barnett นักวิจัยกิตติคุณ ที่สถาบัน Scripps Institute of Oceanography ก็กล่าวว่า
"แม้ตนจะเป็นผู้ที่สนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ตาม แต่การยกเลิกกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไร้เหตุผล และปัญหาโลกร้อนไม่ใช่เรื่องของพรรคเดโมแครตหรือรีพับลิกันเท่านั้น แต่จะส่งผลถึงการละลายตัวของน้ำแข็งที่ขั้วโลก และมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในทะเล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอยู่ในห่วงโซ่อาหารของโลกด้วย"
ขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า คำสั่งผู้นำฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์เรื่องการยกเลิกกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมนี้ จะมีผลต่อข้อตกลงและสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่สหรัฐฯ เคยทำไว้อย่างไร
แต่ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นั้นมักไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงระหว่างประเทศใดๆ ที่ทำให้สหรัฐฯ ต้องยอมมอบอำนาจหน้าที่ให้กับองค์การระหว่างประเทศ