นักวิจัยในเคนยาศึกษาการแพร่ระบาดของเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในสลัมที่แออัดในไนโรบี ที่ซึ่งคน ปศุสัตว์ และสัตว์ป่า อาศัยอยู่รวมกันในสภาพแวดล้อมที่ขาดแคลนการสุขาภิบาลที่ดี
นาย Joseph Mwai เป็นชาวนา เขาเลี้ยงวัว สุกร ไก่และแพะ เขาบอกว่าการเลี้ยงสัตว์ไม่ได้เป็นอาชีพที่เขาเลือก แต่เป็นหนทางเลี้ยงชีพ เขากล่าวว่าการเลี้ยงสัตว์มีความสำคัญต่อตัวเขาเพราะไม่มีงานทำ การเลี้ยงสัตว์ช่วยสร้างรายได้แก่เขา
ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของนาย Mwai ตั้งอยู่ในใจกลางสลัม Viwandani ในไนโรบี มีขยะกองใหญ่สุมอยู่ด้านหลังของบ้าน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับลำธารที่เน่าเสียเพราะขยะ ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าสภาพเเวดล้อมนี้เป็นแหล่งเพาะบ่มเชื้อเเบคทีเรียและเชื้อโรคชนิดอื่นๆ
มนุษย์ ปศุสัตว์ และสัตว์ป่า อาศัยปะปนกันในสลัมแห่งนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยขยะ สิ่งปฏิกูลของคนและของสัตว์ สร้างโอกาสเสี่ยงที่สูงให้เชื้อโรคจะเเลกสลับยีนกันจนกลายเป็นเชื้อโรคกลายพันธุ์ชนิดใหม่ๆ เพราะนอกจากเชื้อโรคจะแพร่จากสัตว์ตัวหนึ่งไปสู่สัตว์อีกตัวหนึ่งแล้ว มันยังส่งต่อยีนไปสู่กันและกันอีกด้วย
คุณ John Kiiru นักจุลชีววิทยาแห่งสถาบันวิจัยทางการแพทย์เคนยากล่าวว่า การส่งต่อยีนของเชื้อโรคที่ว่านี้น่าเป็นห่วงโดยเฉพาะการส่งต่อยีนที่ดื้อยา เขายกตัวอย่างว่าทีมงานของตนค้นพบเชื้อแบคทีเรียขนิดหนึ่งเรียกว่าเชื้อ E. coli ที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะถึง 4 ชนิด หลังจากนั้นทีมงานพบว่ายีนดื้อยาได้แพร่ไปยังเชื้อโรคตัวอื่นๆ เช่น เชื้อโรค Salmonella ด้วย
และที่น่ากังวลกว่านั้น เขากล่าวว่าเป็นไปได้ว่าเชื้ออหิวาตกโรคอาจจะได้รับยีนดื้อยาเหล่านี้แล้ว
คุณ Kiiru กล่าวว่าการแพร่กระจายของยีนที่ดื้อยารุนแรง ติดต่อง่าย เป็นต้นกำเนิดของเชื้อโรคดื้อยาแบบ superbug
แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์มีความรู้เพียงน้อยนิดเกี่ยวกับการเเพร่กระจายของตัวเชื้อโรคในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนแบบนี้ ดังนั้นทีมงานนักวิจัยจึงลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมครอบครัวต่างๆ ทั่วไนโรบี พวกเขาเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากคน จากปศุสัตว์และจากดิน
คุณ Judy Bettridge สัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล อธิบายเหตุผลว่าการเก็บตัวอย่างเหล่านี้เป็นการพยายามค้นหาในขอบเขตเล็กๆ ก่อน ว่าในระยะ 20 เมตรมีการแพร่กระจายของเชื้อเเบคทีเรียชนิดในชนิดหนึ่งในคน สัตว์และสิ่งแวดล้อมอย่างไร
หลังจากนั้นจะขยายบริเวณออกไปเป็น 50 เมตรหรือระยะ 100 เมตร เพื่อค้นหาว่าเชื้อเเบคทีเรียดังกล่าวสามารถแพร่กระจายได้กว้างแค่ไหน และมันสามารถแพร่กระจายไกลออกไปผ่านทางอาหารได้หรือไม่
คุณ Kiiru กล่าวว่าทีมงานต้องการหาคำตอบต่อเรื่องนี้ เพราะต้องการแก้ปัญหาโดยไม่มีจุดประสงค์ที่จะโทษว่าใครเป็นต้นเหตุของการเเพร่เชื้อโรคดื้อยา แต่ต้องการศึกษาว่าสภาพแวดล้อมที่แออัดอย่างในสลัมที่กรุงไนโรบี เอื้อให้มีการแพร่กระจายของเชื้อโรคทั้งในและนอกสลัมอย่างไร
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)