การต่อต้านรัฐประหารในเมียนมายังดำเนินต่อเนื่องในวันศุกร์ และเจ้าหน้าที่กองทัพทำการยิงถล่มกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงในเมืองพะโค ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากนครย่างกุ้ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10 ราย ตามรายงานของสำนักข่าว รอยเตอร์ส
ขณะเดียวกัน สื่อ Myanmar Now และนิตยสารออนไลน์ มอคุน (Mawkun) ของเมียนมา รายงานว่า เหตุปะทะล่าสุดนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 20 ราย และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก แต่ยังไม่มีใครสามารถยืนยันตัวเลขที่แท้จริงได้ เนื่องจากกองกำลังทหารยังคงปักหลักล้อมพื้นที่ใกล้ๆ เจดีย์ในเมืองที่รายงานข่าวระบุว่า มีศพผู้เสียชีวิตกองอยู่รอบๆ
พันเอก จ่อ มิน ทุน โฆษกรัฐบาลทหารกล่าวระหว่างการแถลงข่าวในกรุงเนปิดอว์ว่า สถานการณ์ในเมียนมากำลังค่อยๆ กลับคืนสู่สภาวะปกติและกระทรวงต่างๆ รวมทั้งธนาคารจะกลับมาเปิดทำการเต็มรูปแบบในเร็วๆ นี้แล้ว
นับตั้งแต่เกิดเหตุรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และการประท้วงทั่วเมียนมา องค์กรสิทธิมนุษยชน Assistance Association for Political Prisoners หรือ AAPP รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตแล้ว 614 คน ซึ่งรวมถึงเด็ก 48 คน ด้วยน้ำเมือของกองกำลังรักษาความมั่นคงที่เข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุม โดยมีประชาชนกว่า 2,800 คนที่ถูกจับกุมตัวไปคุมขัง
พันเอก จ่อ มิน ทุน ยังกล่าวด้วยว่า “การที่เหตุชุมนุมประท้วงค่อยๆ ลดลงนั้นเป็นเพราะความร่วมมือของประชาชนที่ต้องการสันติสุข ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาล(ทหาร)ให้ความสำคัญ” และว่า “รัฐบาล(ทหาร)ร้องขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือกับกองกำลังความมั่นคงและให้ช่วยเหลือต่างๆ ด้วย”
โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามการประท้วง 248 คน และปฏิเสธว่า มีการใช้อาวุธปืนอัตโนมัติในปฏิบัติการต่างๆ ขณะที่ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตไป 18 นาย
เอกอัครราชทูต 18 คนจากสหรัฐฯ อังกฤษ สหภาพยุโรป แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศในยุโรปอีกหลายประเทศ ลงนามในแถลงการณ์ร่วม ที่ยืนยันว่า ประเทศของตนพร้อมสนับสนุนประชาชนที่ตั้งความหวังและเชื่อในเมียนมา ที่เป็นประชาธิปไตย มีเสรีภาพ ความยุติธรรม และสันติสุข รวมทั้งระบุว่า ความรุนแรงทั้งหลายควรจะยุติลง และผู้ที่ถูกควบคุมตัวจากเหตุการเมืองทั้งหลายต้องได้รับการปล่อยตัว ขณะที่ระบอบประชาธิปไตยนั้นต้องได้รับการฟื้นฟูด้วย
พันเอก จ่อ มิน ทุน กล่าวว่า รัฐบาลทหารเมียนมาเคารพในคำแนะนำต่างๆ จากประเทศเพื่อนบ้านและประเทศยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย รวมทั้งผู้มีอำนาจในแวดวงการเมืองต่างๆ และพร้อมร่วมมือกับนานาประเทศเสมอ
ขณะเดียวกัน คริสตีน ชราเนอร์ เบอร์เกเนอร์ ทูตพิเศษขององค์การสหประชาชาติ เดินทางถึงกรุงเทพในวันศุกร์ หลังจากความพยายามที่จะเยือนเมียนมาถูกกองทัพเมียนมาปฏิเสธ
ชราเนอร์ เบอร์เกเนอร์ ทวีตข้อความที่ระบุว่า ตนรู้สึกเสียใจที่กองทัพพม่า แจ้งมาว่า ยังไม่พร้อมที่จะให้ตนเดินทางเข้าประเทศ แม้ตนพร้อมที่จะเข้าเจรจา และว่า “ความรุนแรงไม่เคยนำไปสู่ทางออกที่ยั่งยืนและสงบสุขได้เลย”