ทีมนักวิทยาศาสตร์กำลังพากันล่องเรือไป “ที่ที่ไปถึงได้ยากที่สุดในโลก” เพื่อที่จะหาคำตอบให้ได้ว่าระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่และในความเร็วเท่าใด หลังจากที่ภาวะโลกร้อนได้ละลายธารน้ำแข็งสำคัญแห่งหนึ่งในทวีปแอนตาร์กติกา ในบริเวณขั้วโลกใต้
ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ 32 คน ได้เริ่มภารกิจเดินทางทางเรือที่กินเวลากว่า 2 เดือนเพื่อสำรวจพื้นที่สำคัญแห่งหนึ่งในโลก ซึ่งเป็นที่ที่ ‘ทเวตส์’ (Thwaites glacier) ธารน้ำแข็งขนาดมหึมาที่กำลังละลายมาบรรจบกับทะเลอมุนด์เซน (Amundsen) และอาจจะทำให้ธารน้ำแข็งทเวตส์ละลายไปเป็นจำนวนมากเพราะความอุ่นของน้ำทะเล
ธารน้ำแข็งทเวตส์มีขนาดใหญ่เท่ารัฐฟลอริดาของสหรัฐอเมริกา และได้รับการขนานนามว่าเป็น “ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลก” หรือ “doomsday glacier” เพราะปริมาณน้ำแข็งที่มีอยู่ ที่หากถ้าละลายแล้วจะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นกว่า 2 ฟุต หรือ 65 เซ็นติเมตรในระยะเวลาหลายร้อยปีข้างหน้า
การศึกษาดังกล่าวเป็นภารกิจระหว่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ที่ลงทุน 50 ล้านดอลลาร์ร่วมกันเพื่อศึกษาธารน้ำแข็งทเวตส์ ธารน้ำแข็งหรือเกลเชียร์ที่กว้างที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับแผ่นน้ำแข็งที่อยู่บนพื้นดินหรือในทะเล
แอนนา วาห์ลิน นักสมุทรศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโกเทนเบอร์ก (University of Gothenburg) ประเทศสวีเดน กล่าวกับสำนักข่าว Associated Press ว่าธารน้ำแข็งทเวตส์เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้การคาดการณ์ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงนั้นเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เพราะธารน้ำแข็งนี้อยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลและเข้าถึงได้ยาก ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจและกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปของมันเป็นพิเศษ
การละลายของธารน้ำแข็งทเวตส์เพิ่มปริมาณน้ำในทะเลประมาณ 50,000 ล้านตันต่อปี การสำรวจแอนตาร์กติกาของสหราชอาณาจักร (British Antarctic Survey) กล่าวว่าธารน้ำแข็งกล่าวเป็นผลให้ 4% ของน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นสภาพที่ยิ่งทำให้น้ำแข็งละลายได้เร็วยิ่งขึ้น
เอริน เพททิต นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอเรกอน (Oregon State University) กล่าวว่า ธารน้ำแข็งทเวตส์แตกหักในสามลักษณะด้วยกัน คือ หนึ่ง ถูกละลายจากน้ำทะเลข้างใต้ สอง แผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่หลุดจากส่วนที่เป็นพื้นของเกลเชียร์และตกลงไปในมหาสมุทรทำให้ละลายกลายเป็นน้ำ และสาม เกิดจากการเกิดรอยร้าวของชั้นน้ำแข็ง ที่มีลักษณะคล้ายกับกระจกหน้ารถที่แตกร้าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์หวาดหวั่นมากที่สุด โดยในปีนี้เกิดรอยร้าวยาว 6 ไมล์ หรือประมาณ 10 กิโลเมตร
ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครเหยียบขึ้นไปบนธารน้ำแข็งทเวตส์มาก่อน ในปี ค.ศ. 2019 แอนนา วาห์ลิน แห่งมหาวิทยาลัยโกเทนเบอร์ก ประเทศสวีเดน เคยเป็นหนึ่งในทีมที่สำรวจพื้นที่ของธารน้ำแข็งทเวตสจากบนเรือ โดยอาศัยเรือที่ใช้หุ่นยนต์บังคับเป็นพาหนะสำรวจ แต่ไม่เคยขึ้นไปบนแผ่นน้ำแข็งดังกล่าว
ในครั้งนี้ ทีมของวาห์ลินจะใช้เรือที่ใช้หุ่นยนต์บังคับสองลำเพื่อเข้าไปสำรวจข้างใต้ของธารน้ำแข็ง
ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ล่องเรือไปเพื่อสำรวจ “ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลก” นี้จะทำการวัดอุณหภูมิน้ำ วัดพื้นทะเล และความหนาบางของน้ำแข็ง พวกเขาจะยังมองหารอยแตกร้าวบนน้ำแข็ง และดูว่าน้ำแข็งมีโครงสร้างอย่างไรอีกด้วย