หน่วยงานของสหประชาชาติเตือนว่าหลายๆ พื้นที่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประสบปัญหาภาวะทุพโภชนาการและความอดอยากหิวโหยในระดับสูงจนน่าตกใจ
นี่เป็นครั้งแรกที่องค์การอาหารและการเกษตร กองทุนเด็กแห่งสหประชาชาติ โครงการอาหารโลก และองค์การอนามัยโลก ได้ออกแถลงการณ์ร่วมซึ่งเรียกร้องให้มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขสถานการณ์นี้อย่างเร่งด่วน
รายงานดังกล่าวพบว่า ความพยายามในการลดภาวะทุพโภชนาการและความอดอยากในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกหยุดชะงักลง และหากไม่เพิ่มความพยายามในการรับมือกับปัญหานี้ให้มากขึ้น โอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคนี้จะต้องประสบความเสี่ยงอย่างร้ายแรง
หน่วยงานของสหประชาชาติกล่าวว่า หลายๆ พื้นที่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ในการขจัดการขาดสารอาหารทุกรูปแบบ และขจัดความหิวโหยให้เป็นศูนย์ภายในปีค.ศ. 2030
องค์การสหประชาชาติรายงานว่า ประชากร 821ล้านคนทั่วโลกประสบกับปัญหาความอดอยากหิวโหย
Herve Verhoosel โฆษกของโครงการอาหารโลก กล่าวว่า 62% ของจำนวนดังกล่าวหรือ 509 ล้านคน อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ประสบกับปัญหานี้มากที่สุด
Verhoosel กล่าวต่อไปว่า เด็กจำนวน 79 ล้านคน หรือ 1 ในทุกๆ 4 คนที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ต้องประสบปัญหาร่างกายผ่ายผอมแคระแกร็น ในจำนวนนี้ 34 ล้านคนเสียชีวิต และอีก 12 ล้านคนประสบปัญหาภาวะทุพโภชนาการเฉียบพลันอย่างรุนแรง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
นอกจากนี้รายงานยังชี้ว่า ภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดจากสภาพอากาศกำลังมีเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคนี้ ส่งผลกระทบต่อการเกษตรกรรม เช่น การที่พืชผลเสียหาย ทำให้ผู้คนอดอยากหิวโหยกันมากขึ้น ขาดสารอาหารมากขึ้น และคุณภาพชีวิตก็แย่ลง
อย่างไรก็ตาม ความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดจากจากสภาพอากาศในเอเชียระหว่างปี ค.ศ. 2005 และ 2015 มีมูลค่าถึง 48,000 ล้านดอลล่าร์
ผู้เขียนรายงานนี้แนะว่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบของการเกษตรกรรมให้มีความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศที่เลวร้าย
ได้มากขึ้น เพื่อช่วยบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ