รายงานของสหประชาชาติระบุว่า ผลผลิตฝิ่นและโคเคนทั่วโลกเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นสถิติใหม่ ซึ่งเป็นผลจากความต้องการยาเสพติดที่เพิ่มขึ้น
รายงานสถานการณ์ยาเสพติดโลกประจำปี 2018 (World Drug Report 2018) ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานต้านยาเสพติดและอาชญากรรมของสหประชาชาติ (UNODC) ระบุว่า ผลผลิตฝิ่นทั่วโลกเพิ่มขึ้น 65% ระหว่างปี ค.ศ. 2016 - 2017 อยู่ที่ระดับ 10,500 ตัน ขณะที่ผลผลิตโคเคนเมื่อปี 2016 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงกว่า 1,400 ตัน ซึ่งเป็นระดับที่มากที่สุดเท่าที่มีการบันทึกสถิติไว้
รายงานบอกด้วยว่า โคเคนส่วนใหญ่มาจากโคลัมเบีย และขายในตลาดอเมริกาเหนือมากที่สุด โดยมีอาฟริกาและเอเชียเป็นตลาดรองลงมา ขณะที่ฝิ่นส่วนใหญ่นั้นปลูกในอัฟกานิสถาน และถูกส่งไปขายในยุโรปผ่านเส้นทาง "บอลข่าน"
สำนักงาน UNODC กล่าวกับ VOA ว่า การแพร่ระบาดของยาโอปิออยด์ ซึ่งเป็นยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของฝิ่น ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้มีผลผลิตฝิ่นเพิ่มขึ้น กลายเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขทั่วโลกในขณะนี้
รายงานชี้ว่า ปัจจุบัน ประชากรโลกอายุระหว่าง 15-64 ปี ราว 275 ล้านคน ใช้ยาเสพติดร้ายแรงอย่างน้อยหนึ่งครั้งเมื่อปีที่แล้ว และมีผู้เสียชีวิตจากการเสพยาเกือบ 5 แสนคน ซึ่ง UNODC เชื่อว่าตัวเลขจริงๆ อาจมากกว่านั้น
รายงานยังบอกด้วยว่า กัญชาคือยาเสพติดที่มีผู้นิยมเสพมากที่สุดในปี ค.ศ. 2016 ซึ่งแม้กัญชาจะกลายเป็นสิ่งถูกกฎหมายในบางรัฐของสหรัฐฯ แต่มีรายงานหลายชิ้นที่ชี้ว่า จำนวนผู้ที่ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเนื่องจากกรณีที่เกี่ยวข้องกับกัญชา ในรัฐโคโลราโด้ ซึี่งเป็นรัฐแรกที่เริ่มยอมรับให้สามารถใช้กัญชาได้อย่างถูกกฎหมายนั้น เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา