ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เด็กหญิงอินโดเสี่ยงขาดสารอาหาร จากความเชื่อเรื่อง “อาหารต้องห้าม”


FILE - A vendor carries pieces of pineapple on her head during business at a jetty in Yangon, Myanmar.
FILE - A vendor carries pieces of pineapple on her head during business at a jetty in Yangon, Myanmar.

ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการชี้เด็กหญิงในอินโดนีเซีย เสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการ อันเนื่องมาจากความเชื่อเรื่อง “อาหารต้องห้าม” ตั้งแต่ความเชื่อที่ว่าการรับประทานปีกไก่จะทำให้หาคู่ครองได้ยาก ไปจนถึงการทานสับปะรดทำให้เสี่ยงต่อการมีลูกยาก

Kecia Bertermann แห่งองค์กรไม่หวังผลกำไร Girl Effect กล่าวว่า เด็กสาวอินโดเซียถูกปล่อยปละละเลยในเรื่องของโภชนาการ พวกเธอไม่เข้าใจถึงความสำคัญของสุขภาพ และคุณประโยชน์ของโภชนาการที่ดีจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนหนังสือ การทำงาน หรือต่ออนาคตของพวกเธอ

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ความเชื่อเรื่องอาหารต้องห้าม เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและพฤติกรรมทางสังคมอินโดนีเซียในวงกว้าง ซึ่งนำไปสู่ภาวะขาดโภชนาการของเยาวชน และอาจส่งผลต่อการศึกษาและโอกาสต่างๆ ของเด็กผู้หญิงที่นั่น

ทั้งนี้ ความเชื่อที่ผิดๆ ของหญิงอินโดนีเซีย ได้แก่ ความเชื่อที่ว่าแตงกวากระตุ้นให้มีตกขาวในปริมาณมาก การรับประทานสับปะรดอาจทำให้มีบุตรยาก หรือเสี่ยงต่อการแท้งลูก นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าการทานเผ็ดอาจทำให้เป็นไส้ติ่งอักเสบ และทำให้น้ำนมแม่มีรสเผ็ด อาหารมันอาจทำให้เจ็บคอ ถั่วลิสงทำให้เป็นสิว และการทานส่วนเท้าและปีกไก่ จะทำให้ผู้หญิงหาสามีได้ยาก

นักโภชนาการจากองค์กร Girl Effect เปิดเผยว่า เด็กผู้หญิงอินโดนีเซียมักจะรับประทานโปรตีน ผัก และผลไม้ในปริมาณน้อย แต่เลือกที่จะทานข้าว และขนมแปรรูป ซึ่งมักจะเป็นอาหารรสหวานและเป็นของทอดเพื่อให้อิ่มท้อง

นอกจากนี้ ยังพบว่าหญิงสาวอินโดนีเซียที่อาศัยอยู่ในเมืองไม่รับประทานอาหารเช้า หรือทานเพียงน้อยนิด หรือทานของขบเคี้ยว หรือไม่ทานอะไรเลยทั้งวัน และคิดไปเองว่าความรู้สึกอิ่มนั้นเปรียบเหมือนการได้รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ

ทว่า ของขบเคี้ยวมักจะมีคาร์โบไฮเดรตในปริมาณสูง ทำให้ผู้หญิงขาดโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่

องค์กร UNICEF เปิดเผยว่า อินโดนีเซียมีปัญหาด้านโภชนาการสูงที่สุดในโลก เยาวชนหญิงในประเทศราว 2 ใน 5 มีภาวะขาดสารอาหาร ทำให้เกิดความกังวลว่า ปัญหานี้อาจเป็นสาเหตุของการตั้งครรภ์ในช่วงวัยรุ่นของพวกเธอด้วย

ทั้งนี้ องค์กร Girl Effect ร่วมกับองค์กร Nutrition International เพื่อพัฒนาพฤติกรรมการรับประทานอาหารของหญิงสาวผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ “Springster” ที่จะให้ความรู้และตอบคำถามกับผู้หญิงในด้านสุขภาพและปัญหาสังคม ซึ่งหากแนวคิดนี้ประสบความสำเร็จ จะถูกนำไปใช้ในฟิลิปปินส์และไนจีเรียด้วย

XS
SM
MD
LG