ลิ้งค์เชื่อมต่อ

โฆษกกองทัพยูเครนเผย “ระเบิดลูกปราย” จากสหรัฐฯ ถึงเคียฟแล้ว


FILE PHOTO: Ukrainian military displays parts of rockets used by Russian army in the region of Kharkiv
FILE PHOTO: Ukrainian military displays parts of rockets used by Russian army in the region of Kharkiv

โฆษกกองทัพยูเครนเปิดเผยในวันพฤหัสบดีว่า ระเบิดลูกปรายจากสหรัฐฯ ถึงมือกองทัพยูเครนแล้ว ไม่นานหลังจากสหรัฐฯ ประกาศแผนจัดส่งระเบิดชนิดดังกล่าวให้กับกองทัพยูเครนเมื่อสัปดาห์ก่อน ตามรายงานของรอยเตอร์

วาเลรี เชอร์เชน โฆษกกองบัญชาการทาฟเรียทางตอนใต้ของยูเครน ยืนยันเรื่องนี้ในรายงานของซีเอ็นเอ็นว่า ผู้บัญชาการของกองทัพยูเครนในทาฟเรียระบุว่าได้รับระเบิดลูกปราย หรือ ระเบิดพวง แต่ยังไม่ได้เริ่มใช้อาวุธชนิดดังกล่าวในขณะนี้

เชอร์เชน กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์ในยูเครนว่า ระเบิดลูกปราย “อยู่ในมือของกองทัพเราแล้ว” แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดเพิ่มเติม

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ประกาศเมื่อ 7 กรกฎาคมว่า จะจัดส่งระเบิดลูกปรายให้กับรัฐบาลกรุงเคียฟ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนความช่วยเหลือด้านความมั่นคง 800 ล้านดอลลาร์ ที่มีเป้าหมายในการสร้างความมั่นใจว่ากองทัพรัสเซียที่รุกรานยูเครนมาเกือบ 17 เดือนนี้จะไม่สามารถหยุดยั้งการรุกโต้กลับของยูเครนได้

อย่างไรก็ตาม ระเบิดลูกปรายถือเป็นอาวุธต้องห้ามในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก เนื่องจากระเบิดชนิดนี้จะปล่อยระเบิดขนาดเล็กจำนวนมหาศาลที่สามารถคร่าชีวิตผู้คนในวงกว้างได้อย่างไม่เลือกหน้า และระเบิดบางส่วนที่ยังไม่จุดชนวนก็อาจเป็นภัยอันตรายยาวนานหลายทศวรรษได้

ยูเครนระบุว่าจะใช้ระเบิดลูกปรายเพียงเพื่อการ “ยึดคืน” ดินแดนของยูเครนกลับมา และว่าจะไม่ใช่ระเบิดชนิดนี้ในพื้นที่ในเมือง และประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ย้ำถึงเรื่องนี้อีกครั้งในเวทีประชุมสุดยอดนาโต้เมื่อวันพุธด้วยเช่นกัน

การตัดสินใจส่งระเบิดลูกปรายให้แก่ยูเครนได้รับเสียงคัดค้านจากสเปนและแคนาดา ขณะที่นักการเมืองพรรคเดโมแครตบางรายแสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ ด้านสถานทูตรัสเซียในสหรัฐฯ ออกมาประณามการตัดสินใจส่งมอบระเบิดให้ยูเครนของสหรัฐฯ

ที่ผ่านมา รัสเซีย ยูเครน และสหรัฐฯ ยังไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดลูกปราย (Convention on Cluster Munitions) ที่ห้ามประเทศต่าง ๆ ที่ลงนามรับรองในการใช้งาน พัฒนา ผลิต จัดหา สั่งสม เก็บรักษาหรือถ่ายโอนระเบิดชนิดนี้ ขณะที่มี 123 ประเทศและรัฐลงนามในอนุสัญญาดังกล่าว

  • ที่มา: รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG