ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผลวิจัยชี้ 'ไฟเซอร์ - แอสตราฯ' สองโดสป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้เกือบเท่าอัลฟา


FILE PHOTO: A medical worker prepares to dilute a vial of Pfizer-BioNTech vaccine at a coronavirus disease (COVID-19) vaccination center in Singapore
FILE PHOTO: A medical worker prepares to dilute a vial of Pfizer-BioNTech vaccine at a coronavirus disease (COVID-19) vaccination center in Singapore

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานผลการวิจัยในอังกฤษที่ระบุว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนสองโดสของบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) และบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) มีภูมิคุ้มกันเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์เดลตา ในระดับที่เกือบเท่ากับสายพันธุ์อัลฟาที่เป็นสายพันธุ์หลักก่อนหน้านี้

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ New England Journal of Medicine ถือเป็นการยืนยันข้อมูลการใช้จริงเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนโควิดจากทั้งสองบริษัทดังกล่าว ที่เปิดเผยโดยสำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ หรือ Public Health England เมื่อเดือนพฤษภาคม ​

งานวิจัยที่เปิดเผยเมื่อวันพุธชี้ว่า วัคซีนของไฟเซอร์สองโดสสามารถป้องกันอาการป่วยจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้ 88% เทียบกับ 93.7% ในการป้องกันอาการป่วยจากสายพันธุ์อัลฟา ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับรายงานการวิจัยก่อนหน้านี้

ในขณะที่วัคซีนของแอสตราเซเนกาสองโดสมีประสิทธิผล 67% ต่อสายพันธุ์เดลตา เพิ่มจากระดับ 60% ในการวิจัยก่อนหน้านี้ และลดลงจากระดับประสิทธิผล 74.5% ต่อสายพันธุ์อัลฟา

นักวิจัยของ Public Health England (PHE) ระบุว่า มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยในประสิทธิผลของวัคซีนสองโดสจากทั้งสองบริษัทนี้เมื่อใช้กับเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาและอัลฟา

ก่อนหน้านี้ PHE ระบุว่า วัคซีนของไฟเซอร์และแอสตราเซเนกาเพียงโดสเดียวสามารถป้องกันอาการป่วยจากสายพันธุ์เดลตาซึ่งพบครั้งแรกในอินเดีย ได้ราว 33% เท่านั้น ซึ่งรายงานฉบับเต็มที่เปิดเผยในวันพุธชี้ว่า วัคซีนไฟเซอร์เข็มเดียวมีประสิทธิผล 36% ต่อเชื้อเดลตา ขณะที่วัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มเดียวมีประสิทธิผล 30%

ผู้จัดทำรายงานชิ้นนี้ชี้ว่า ผลการวิจัยครั้งล่าสุดแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของการฉีดวัคซีนสองเข็มเพื่อป้องกันอาการป่วยจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง

XS
SM
MD
LG