บริษัทเวชภัณฑ์ ไฟเซอร์ (Pfizer) เตรียมยื่นเรื่องต่อหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ และยุโรป เพื่อขออนุมัติการใช้วัคซีนเข็มที่ 3 ซึ่งรวมพัฒนาและผลิตกับบริษัท ไบโอเอนเท็ค (BioNTech) ที่คาดว่าจะออกมาพร้อมใช้งานภายใน 1 ปีข้างหน้า เพื่อทำหน้าที่เป็นเข็มกระตุ้น (Booster) ภูมิคุ้มกัน ที่อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อโคโรนาไวรัสกลายพันธุ์ได้
งานวิจัยในหลายประเทศแสดงให้เห็นว่า วัคซีนของไฟเซอร์-ไบโอเอนเท็ค รวมทั้งวัคซีนอื่นๆ ที่มีการแจกจ่ายกันอย่างกว้างขวางทั่วโลกสามารถช่วยปกป้องผู้รับยาจากไวรัสสายพันธุ์เดลตา ที่กำลังแพร่กระจายไปทั่วและเป็นสาเหตุของจำนวนผู้ติดเชื้อที่กำลังเพิ่มขึ้นมาอีกครั้งในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม สารภูมิต้านทาน (Antibody) ในร่างกายคนเราที่เพิ่มขึ้นจากการรับวัคซีนนั้นจะลดต่ำลงไปเรื่อยๆ ตามธรรมชาติ ดังนั้น จึงเริ่มมีการศึกษาวิจัยเพื่อหาข้อสรุปว่า คนเรานั้นต้องการรับวัคซีนกระตุ้นไปเรื่อยๆ หรือไม่
ดร.ไมเคิล โดลสเตน หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ของไฟเซอร์ บอกกับผู้สื่อข่าว เอพี เมื่อวันพฤหัสบดีว่า ข้อมูลการศึกษาวัคซีน Booster ของบริษัทที่ออกมาในช่วงแรกชี้ให้เห็นว่า สารภูมิต้านทานในร่างกายมนุษย์เพิ่มขึ้นถึง 5 ถึง 10 เท่า หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 เมื่อเทียบกับผู้ที่รับวัคซีนครบ 2 เข็มไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน
ทั้งนี้ สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) และศูนย์ควบคุมและป้องกันการติดเชื้อสหรัฐฯ (CDC) ออกแถลงการณ์ร่วมที่ระบุว่า ชาวอเมริกันที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วนั้น ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นในเวลานี้ ขณะที่ สำนักงานยายุโรป (EMA) กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า ควรมีการแจกจ่ายวัคซีนเข็มที่ 3 หรือไม่ พร้อมแสดงความมั่นใจว่า การฉีดวัคซีนให้ครบ 2 เข็มนั้นเพียงพอที่จะรับมือกับการระบาดแล้ว
ในแถลงการณ์ร่วมนี้ FDA และ CDC ยืนยันว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมพร้อมที่จะดำเนินการแจกจ่ายวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน “ถ้าหาก และ เมื่อ มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้ว่า” มีความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีน Booster จริงๆ
แต่ ดร.โดลสเตน เปิดเผยว่า ไฟเซอร์ วางแผนที่จะยื่นเรื่องของอนุมัติการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 3 ต่อ FDA ในเดือนสิงหาคม
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า ทำไมไฟเซอร์ถึงให้ความสำคัญต่อการรับมือไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา ดร.โดลสเตน กล่าวว่า ข้อมูลจากอังกฤษและอิสราเอลแสดงให้เห็นว่า วัคซีนของไฟเซอร์ “ต่อต้านไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้อย่างดี” แต่ยังมีสมมติฐานที่ว่า เมื่อสารภูมิต้านทานในร่างกายลดลงต่ำถึงระดับหนึ่ง ไวรัสดังกล่าวจะมีฤทธิ์มากพอที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในระดับอ่อนๆ ก่อนที่ระบบภูมิต้านทานจะเริ่มทำงานจัดการกับอาการดังกล่าวต่อไป
เขายังกล่าวด้วยว่า หลายประเทศในยุโรปและทวีปอื่นๆ เริ่มติดต่อมายังไฟเซอร์ เพื่อหารือการจัดหาวัคซีน Booster แล้ว และบางรายอาจจะเริ่มทำการฉีดก่อนที่หน่วยงานกำกับดูแลในสหรัฐฯ ให้การอนุมัติอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ
รอยเตอร์ รายงานโดยอ้างคำพูดของ ดร.โดลสเตน ว่า ไฟเซอร์ มีแผนจะเริ่มการทดสอบประสิทธิผลของวัคซีน Booster กับอาสาสมัครจำนวน 10,000 คน โดยจะมีการใช้ยาหลอก (Placebo) เข้าร่วมด้วย ตลอดช่วงฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งหมายความว่า กระบวนการนี้จะไม่มีทางเสร็จสิ้นก่อนบริษัทจะยื่นเรื่องขออนุมัติต่อ FDA อย่างแน่นอน
และในส่วนของสหรัฐฯ นั้น ดร.วิลเลียม แชฟเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนจากศูนย์แพทย์มหาวิทยาลัย แวนเดอร์บิลท์ เตือนว่า แม้หลัง FDA อนุมัติคำขอของไฟเซอร์แล้ว นั่นไม่ได้หมายความว่า ชาวอเมริกันจะรอรับวัคซีน Booster ได้ทันที เพราะหน่วยงานสาธารณสุขต่างๆ ยังต้องตัดสินใจว่า การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 นั้นมีความจำเป็นเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อประชาชนหลายล้านคนยังไม่ได้รับการฉีดยาแม้แต่เข็มเดียว
ในเวลานี้ มีประชาชนในสหรัฐฯ ราว 48 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว และหลายพื้นที่ในประเทศรายงานอัตราการฉีดยาในระดับต่ำอยู่มาก โดยเฉพาะที่ๆ มีการแพร่กระจายของไวรัสสายพันธุ์เดลตาอยู่