นายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิล บินตรงสู่กรุงวอชิงตัน รับไม้ต่อจากประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาคร็อง แห่งฝรั่งเศส เข้าหารือกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในประเด็นการค้าและความมั่นคง
การหารือระหว่างผู้นำสหรัฐฯและเยอรมนี ที่ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ในช่วงเที่ยงของวันศุกร์ ตามเวลาสหรัฐฯ ใช้เวลาน้อยกว่า 3 ชั่วโมง โดยเป็นการประชุมภายในห้องทำงานรูปไข่เพียง 30 นาที ก่อนจะร่วมรับประทานมื้อเที่ยงพร้อมกับหารือในหลากหลายประเด็นไปพร้อมกัน และปิดท้ายด้วยการแถลงข่าวร่วมกัน
ซึ่งทั้งหมดนั้น ใช้เวลาเพียงแค่ 2 ชั่วโมง 30 นาที
นางแมร์เคิล มีเป้าหมายสำคัญ 2 ด้าน คือ ในแง่เศรษฐกิจ ผู้นำเยอรมนีต้องการหารือกับทรัมป์ เพื่อผลักดันให้สหรัฐฯกลับมามีบทบาททางการค้าระหว่างประเทศเหมือนแต่ก่อน การเจรจาข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ Trans-Atlantic กับสหรัฐฯ และต่อรองให้สหภาพยุโรปได้รับการยกเว้นจากการเรียกเก็บภาษีเหล็กและอลูมิเนียมจากสหรัฐ ซึ่งใกล้จะสิ้นสุดระยะเวลายกเว้นภาษีนำเข้า ในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้
และในด้านความมั่นคง นางแมร์เคิล ถือเป็นไพ่ใบสุดท้าย ในการโน้มน้าวไม่ให้ทรัมป์ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน
ในการแถลงข่าวร่วมกัน ทรัมป์ใช้เวลาส่วนใหญ่เรียกร้องให้ประเทศในองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO เพิ่มงบประมาณกลาโหมอย่างน้อยร้อยละ 2 ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP รวมทั้งเรียกร้องให้มีการค้าระหว่างประเทศที่เป็นธรรมและเอื้อประโยชน์กับสหรัฐฯ มากขึ้น
ทั้งนี้ สื่อมวลชนและนักวิเคราะห์ทางการเมืองต่างจับตาท่าทีของผู้นำทั้ง 2 ชาติ ซึ่งดูเย็นชากว่าท่าทีของทรัมป์กับประธานาธิบดีมาคร็องอย่างที่คาดไว้ แต่ทั้งคู่ต่างสงวนท่าทีไม่ให้มีช่วงเวลาอันน่าอึดอัดใจเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในการพบกันเมื่อปีก่อน
ซึ่งเอริค โจนส์ ผู้อำนวยการฝ่ายยุโรปและยูเรเซียศึกษา มหาวิทยาลัย John Hopkins บอกว่า แม้แม้ว่าประธานาธิบดีมาคร็องจะถูกชะตาทรัมป์มากกว่านางแมร์เคิล แต่เธอก็ไม่ปล่อยให้เสน่ห์มาขัดขวางภารกิจสำคัญของเธอได้ และนางมาร์เคิล เลือกใช้หลักการและหลักผลประโยชน์ร่วมของสหรัฐฯและเยอรมนีเป็นหมากเดินเกมการหารือครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม เขามองว่าสหภาพยุโรป ไม่ได้คาดหวังว่าทรัมป์จะเปลี่ยนใจหลังการหารือกับนางแมร์เคิลแต่อย่างใด