กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือ เพนตากอน สั่งถอนกำลังทหารอเมริกันที่ประจำการในอัฟกานิสถานและอิรัก ให้เหลือเพียง 2,500 นาย ภายในช่วงกลางเดือนมกราคมปีหน้า
คริสโตเฟอร์ มิลเลอร์ รักษาการรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันอังคารว่า ภายใน 15 มกราคมปีหน้า กองทัพสหรัฐฯ จะลดจำนวนกองกำลังในอัฟกานิสถานอีกราว 2,000 นาย และอีก 500 นาย จากที่ปัจจุบันมีทหารอเมริกันประจำการในอัฟกานิสถานราว 4,500 ราย และราว 3,000 นายในอิรัก ภายใต้ผลประโยชน์ด้านยุทธศาสตร์เพื่อให้มั่นใจว่า กลุ่มอย่าง al-Qaida และ ISIS จะไม่สามารถเข้าพื้นที่ดังกล่าวโจมตีสหรัฐฯ ได้ และว่าภายใต้คำสั่งดังกล่าวจะไม่กระทบศักยภาพของกองทัพสหรัฐฯ แต่อย่างใด
หลังจากนั้นไม่นาน วุฒิสมาชิกมิตช์ แมคคอแนล จากพรรครีพับลิกัน ออกมาแสดงท่าทีคัดค้านการเปลี่ยนแปลงโยบายด้านการทหารและต่างประเทศในระยะ 2-3 เดือนนี้ ซึ่งรวมถึงการถอนทหารนับพันนายจากอิรักและอัฟกานิสถานด้วย เช่นเดียวกับทางการสหรัฐฯและอัฟกันที่ยืนยันว่ายังมีเหตุรุนแรงจากกลุ่มตาลิบานและอัลไกดาห์ ดำเนินอยู่ต่อเนื่องในช่วงนี้
เมื่อต้นเดือนตุลาคม ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตข้อความระบุว่า ภายในคริสต์มาสนี้ สหรัฐฯ ควรคงกำลังทหารในอัฟกานิสถานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สะท้อนดำริของผู้นำสหรัฐฯที่ต้องการลดกำลังทหารแต่ไม่ถึงกับถอนกำลังออกมาทั้งหมด ก่อนที่ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงประจำทำเนียบขาว จะบอกปัดว่าทวีตดังกล่าว เป็นเพียงความประสงค์ของผู้นำสหรัฐฯ หาใช่คำสั่งอย่างเป็นทางการของกองทัพ
อย่างไรก็ตาม แบรดลีย์ โบว์แมน ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหาร ประจำสถาบันคลังสมอง Foundation for Defense of Democracies ในกรุงวอชิงตัน แสดงความกังวลว่า การที่สหรัฐฯ ถอนกองกำลังตามปฏิทินการเมือง เป็นการตัดสินใจที่ผิด และว่าการถอนกองกำลังเป็นจำนวนมากและเกิดขึ้นรวดเร็วภายใน 2-3 สัปดาห์นั้น อาจเป็นอันตรายมากกว่าการค่อยๆถอนกำลังทหารออกมา
อีกด้านหนึ่ง ไมเคิล โอแฮนลัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหาร จาก Brookings Institution มองว่า ยังดีที่สหรัฐฯ ไม่ถอนกองกำลังออกทั้งหมด และบอกว่าว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ อาจกลับมาพิจารณาเพิ่มกำลังทหารในอิรักและอัฟกานิสถานได้อีกครั้ง ทันทีที่เขาขึ้นรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในต้นปีหน้า