ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จีนจับมือ 14 ประเทศลงนามข้อตกลงการค้าเสรี RCEP - สหรัฐฯ ยังรอดูท่าที


Vietnamese Prime Minister Nguyen Xuan Phuc, left, applauds as Minister of Trade Tran Tuan Anh, right, holds up a signed document during a virtual signing ceremony of the Regional Comprehensive Economic Partnership, or RCEP, trade agreement in Hanoi.
Vietnamese Prime Minister Nguyen Xuan Phuc, left, applauds as Minister of Trade Tran Tuan Anh, right, holds up a signed document during a virtual signing ceremony of the Regional Comprehensive Economic Partnership, or RCEP, trade agreement in Hanoi.
RCEP Signed
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:14 0:00

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน ตัวแทนของรัฐบาลจีนกับตัวแทนของประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียนและประเทศคู่เจรจารวม 14 ประเทศ ลงนามในข้อตกลงการค้า RCEP ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดฉบับหนึ่งของโลก โดยครอบคลุมประชากรในภูมิภาคอินโดแปซิฟิคถึงกว่าสองพันล้านคน

สำนักข่าว AP และ นสพ. New York Times มีรายงานจากนักวิเคราะห์ที่มองว่าข้อตกลงการค้า RCEP นี้จะช่วยส่งเสริมบทบาทอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน และเป็นความหวังของกลุ่มประเทศย่านอินโดแปซิฟิคสำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงหลังโควิด-19 ได้

โดยหลังจากที่ใช้เวลาเจรจามาแปดปี จีนกับประเทศคู่ค้าอีก 14 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสมาคมอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ รวมทั้งออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ ได้ลงนามในข้อตกลงการค้าหุ้นส่วนความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคหรือ RCEP ในเมืองหลวงของแต่ละประเทศ

แม้อินเดียจะร่วมเจรจาข้อตกลง RCEP ตั้งแต่แรก แต่ได้ถอนตัวออกไปเมื่อเดือนกรกฎาคมนี้

RCEP ( Regional Comprehensive Economic Partnership)
RCEP ( Regional Comprehensive Economic Partnership)

ข้อตกลงนี้ครอบคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและประชากรเกือบหนึ่งในสามของโลก ซึ่งนายกรัฐมนตรี ลี เค่อเฉียง ของจีน มีคำแถลงว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นชัยชนะของความร่วมมือแบบหลายฝ่ายหรือพหุภาคีและระบบการค้าเสรีด้วย

ข้อตกลง RCEP จะช่วยลดหรือยกเลิกภาษีขาเข้าสำหรับสินค้าบางอย่างที่มีการค้ากันอยู่ แต่ยังเปิดโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ ยังคงใช้ภาษีขาเข้ากับภาคการผลิตที่เห็นว่าสำคัญหรือมีความละเอียดอ่อนสำหรับตนได้ รวมทั้งยังจะมีการใช้กฎเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดสินค้าหรือ rules of origin สำหรับสินค้าที่ผลิตในภูมิภาคที่จะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า

แต่ข้อตกลง RCEP จะไม่มีผลกระทบอย่างสำคัญในเรื่องงานบริการบางอย่าง เช่น งานกฎหมายและงานบัญชี รวมทั้งไม่ได้มีกฎเกณฑ์อย่างเข้มงวดเกี่ยวกับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิด้านแรงงาน การดูแลด้านสิ่งแวดล้อม หรือการจำกัดการให้เงินอุดหนุนแก่วิสาหกิจของรัฐแต่อย่างใด

คุณแมรี เลิฟลี นักวิจัยอาวุโสของสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ Peterson Institute ในกรุงวอชิงตัน บอกว่าข้อกำหนดของข้อตกลงการค้า RCEP ที่ลดอุปสรรคกีดกันด้านการค้าในภูมิภาคนี้ จะช่วยกระตุ้นบริษัทระดับโลกซึ่งพยายามเลี่ยงผลกระทบจากนโยบายการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ให้ยังทำธุรกิจในเอเชียต่อไป เพราะกำแพงภาษีในกลุ่มประเทศอินโดแปซิฟิกซึ่งอยู่ในระดับต่ำจะช่วยเพิ่มคุณค่าของการลงทุนในภูมิภาคนี้

ส่วนคุณกาเรท เลเทอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้านเอเชียของบริษัท Capital Economics ก็ชี้ว่า ข้อตกลง RCEP นี้เปรียบเสมือนความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่สำหรับจีนเพราะนอกจากจะมีตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคจากจำนวนประชากรกว่า 1,300 ล้านคนแล้ว จีนยังสามารถแสดงตัวว่าเป็นผู้สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศและความร่วมมือแบบพหุภาคี รวมทั้งต่อต้านลัทธิปกป้องผลประโยชน์ด้านการค้าเฉพาะตน และจะสามารถก้าวเข้ามามีบทบาทอิทธิพลทางเศรษฐกิจมากขึ้นในภูมิภาคนี้ของโลกด้วย

การลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี RCEP ซึ่งเป็นผลจากการเจรจาระหว่างจีนกับสมาคมอาเซียนและประเทศคู่เจรจาอีกสี่ประเทศนี้ มีขึ้นราวสี่ปีหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศนโยบาย America First และถอนสหรัฐฯ ออกจากการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี TPP เดิมซึ่งสหรัฐฯ เป็นแกนนำอยู่ โดยสหรัฐฯ ได้หันไปเน้นเรื่องการเจรจาทำความตกลงด้านการค้าแบบรายประเทศหรือทวิภาคีแทน

เรื่องนี้ก็ทำให้เกิดคำถามว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ของโจ ไบเดน จะมีท่าทีอย่างไร เพราะหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศถอนตัวจากการเจรจาข้อตกลง TPP แล้วประเทศคู่เจรจาที่เหลืออยู่ 11 ประเทศก็ได้เดินหน้าต่อและเปลี่ยนชื่อข้อตกลงเป็น CPTPP แทน

แต่นักวิเคราะห์บางคน เช่น คุณไมเคิล โจนาธาน กรีน แห่งศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศหรือ CSIS ตั้งข้อสังเกตว่า ประธานาธิบดีไบเดนคงจะไม่รีบเร่งเรื่องการกลับเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค หรือยกเลิกมาตรการลงโทษทางการค้าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ใช้กับจีน แต่อาจใช้ความร่วมมือในลักษณะอื่นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐในภูมิภาคนี้แทน

ถึงกระนั้นก็ตาม คุณเจฟฟรี วิลสัน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ Perth USAsia Center ก็ระบุไว้ในรายงานสำหรับ Asia Society ว่า ถึงแม้ข้อตกลง RCEP นี้จะไม่มีข้อกำหนดอย่างเข้มงวดเรื่องแรงงานด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพย์สินทางปัญญา หรือบังคับให้ประเทศสมาชิกต้องเปิดภาคเศรษฐกิจบางส่วนของตนเพื่อรับการแข่งขันจากภายนอกก็ตาม แต่ RCEP ก็มีกฎเกณฑ์ที่จะช่วยเอื้อต่อการทำธุรกิจและการลงทุนในภูมิภาคดังกล่าว และน่าจะเป็นกรอบและกลไกซึ่งเป็นที่ต้องการของประเทศต่าง ๆ ในย่านอินโดแปซิฟิก สำหรับความพยายามฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงหลังโควิด-19 ได้

XS
SM
MD
LG