ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นกล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเป็นครั้งแรกในวันอังคาร ซึ่งมีคำพูดที่สร้างแรงสะเทือนพอสมควร เช่น การเรียกผู้นำคิม จอง อึน ว่า “Rocket Man” การบอกว่าจะทำลายเกาหลีเหนือ และการเรียกระบอบการปกครองของอิหร่านว่าเป็น “ฆาตกร”
ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก ในวันอังคาร โดยระบุถึงระบอบการปกครองของผู้นำคิม จอง อึน ว่าสร้างภัยคุกคามต่อทั่วโลก ด้วยการทดสอบขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์
ปธน.ทรัมป์ กล่าวว่า ไม่มีประเทศไหนที่เห็นดีเห็นงามกับการที่เกาหลีเหนือมีอาวุธร้ายแรงในครอบครอง และว่าแม้สหรัฐฯ จะมีความอดทนและเข้มแข็ง แต่หากถูกกดดันให้ต้องปกป้องตนเองและประเทศพันธมิตร สหรัฐฯ ก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องทำลายเกาหลีเหนือ
ผู้นำสหรัฐฯ ยังเรียกผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน ว่า “Rocket Man” ที่กำลังนำตนเองและระบอบการปกครองของกรุงเปียงยางไปสู่ความตาย
ทางผู้แทนของเกาหลีเหนือเดินออกจากห้องประชุมก่อนที่ ปธน.ทรัมป์ จะขึ้นกล่าว และทิ้งที่นั่งของเกาหลีเหนือว่างไว้ตลอด 42 นาทีที่ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวปราศรัย
นอกจากเกาหลีเหนือแล้ว ปธน.สหรัฐฯ ยังกล่าวถึงอิหร่านด้วยถ้อยคำที่รุนแรงไม่แพ้กัน โดยเรียกรัฐบาลอิหร่านว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการที่ฉ้อฉลซึ่งหลบซ่อนผู้หลังฉากหน้า ที่พยายามสร้างภาพว่าเป็นประชาธิปไตย
ปธน.ทรัมป์ กล่าวว่า ระบอบการปกครองของอิหร่านได้ทำให้ประเทศที่เคยมั่งคั่งรุ่งเรือง และเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ให้กลายเป็นประเทศอันธพาลที่ขัดสน โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ คือความรุนแรง การนองเลือด และความวุ่นวาย
ผู้นำสหรัฐฯ ระบุด้วยว่า รัฐบาลกรุงเทหะรานใช้ทรัพยากรมหาศาลที่มีอยู่ในการสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายที่สังหารชาวมุสลิม และโจมตีประเทศอาหรับอื่นๆ
ปธน.ทรัมป์ กล่าวว่า เราไม่สามารถปล่อยให้ “รัฐบาลฆาตกร” ของอิหร่าน ทำลายความมั่นคงและเสถียรภาพพร้อมไปกับการสร้างขีปนาวุธ และเราจะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ปกป้องโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของกรุงเทหะราน
นอกจากนี้ ปธน.ทรัมป์ ยังใช้โอกาสนี้กล่าวถึงประเด็นอื่นๆ เช่น วิกฤติทางการเมืองในเวเนซูเอล่า ผลกระทบจากพายุเฮอริเคนในหลายรัฐของสหรัฐฯ และนโยบาย “อเมริกามาก่อน” หรือ “America First” ของตนเอง โดยบอกว่าเป็นสิ่งสำคัญในการปกป้องผลประโยชน์และอนาคตของแต่ละประเทศ
สำหรับกระแสตอบรับต่อคำกล่าวปราศรัยของ ปธน.ทรัมป์ ที่การประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติครั้งนี้ แตกต่างออกไปเป็นสองขั้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงวอชิงตัน
ส.ว.คอรี่ย์ การ์ดเนอร์ จากพรรครีพับลิกัน แสดงความชื่นชมต่อท่าทีแข็งกร้าวของผู้นำสหรัฐฯ ที่มีต่อเกาหลีเหนือ โดยบอกว่าประเทศต่างๆ จำเป็นต้องเลือกว่าจะจับมือกับเกาหลีเหนือหรือสหรัฐฯ และว่า คำว่า “Rocket Man” นั้นเหมาะกับผู้นำคิมแล้ว
ขณะที่ ส.ว.เอ็ดเวิร์ด มาร์กกีย์ จากพรรคเดโมแครต บอกว่า ปธน.ทรัมป์ ควรพูดถึงมาตรการลงโทษชุดใหม่ต่อเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะการตัดการส่งน้ำมันให้กับเกาหลีเหนือ ซึ่งจะกดดันให้เกาหลีเหนือต้องกลับสู่โต๊ะเจรจา
ด้านคุณโธมัส เวลเล่น นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์แห่ง Boston University เชื่อว่า คำปราศรัยของ ปธน.ทรัมป์ ครั้งนี้ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบาย “อเมริกามาก่อน” อาจได้รับเสียงชื่นชมจากบรรดาผู้สนับสนุนแนวคิดอนุรักษ์นิยม แต่อาจเป็นการส่งสัญญาณผิดๆ ไปยังประชาคมโลกได้
แต่คุณซัลเมย์ คาลิลซาร์ด อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ มองว่า คำพูดของ ปธน.สหรัฐฯ มักไม่มีผลกระทบหรือมีน้อยต่อชื่อเสียงของอเมริกาบนเวทีโลก เพราะประเทศส่วนใหญ่มักมองที่นโยบายของสหรัฐฯ ที่ถ่ายทอดจากรัฐบาลชุดก่อนมาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน มากกว่าคำพูดของประธานาธิบดีแค่ครั้งเดียว
(ผู้สื่อข่าว Peter Heinlein รายงานจากสำนักงานใหญ่ UN นครนิวยอร์ก / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)