ลิ้งค์เชื่อมต่อ

'จีนา ฮาสเพล' ผู้ได้รับเสนอชื่อเป็น 'ผอ.ซีไอเอ' ตกเป็นเป้าวิจารณ์จากกรณีบริหารคุกลับในไทย


U.S. Central Intelligence Agency director nominee Gina Haspel center, attends Secretary of State Mike Pompeo's ceremonial swearing-in at the State Department in Washington. May 2, 2018.
U.S. Central Intelligence Agency director nominee Gina Haspel center, attends Secretary of State Mike Pompeo's ceremonial swearing-in at the State Department in Washington. May 2, 2018.

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า จีนา ฮาสเพล (Gina Haspel) ผู้ที่ตนเสนอชื่อให้เป็นผู้อำนวยการหน่วยงานข่าวกรองกลาง (CIA) คนใหม่ ตกเป็นเป้าของการถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะว่าเธอมีนโยบายที่แข็งกร้าวกับผู้ก่อการร้าย

ปธน.ทรัมป์ ทวีตข้อความในวันจันทร์ หลังจากมีรายงานว่า ฮาสเพลได้เสนอถอนตัวออกจากการได้รับเสนอชื่อในครั้งนี้ เนื่องจากทำเนียบขาวกังวลต่อบทบาทของเธอในอดีต เกี่ยวกับการใช้วิธีที่รุนแรงในการทรมานผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้าย

ทวีตของผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่า "ในช่วงเวลาอันตรายเช่นนี้ เรากำลังจะมีผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนที่สุด และเป็นผู้หญิง มาดำรงตำแหน่ง ผอ.ซีไอเอ แต่พรรคเดโมแครตไม่ต้องการให้เธอเป็น เพราะเธอมีนโยบายที่แข็งกร้าวเกินไปกับผู้ก่อการร้าย"

บรรดานักวิจารณ์ชี้ว่า จีนา ฮาสเพล ไม่ควรได้รับแต่งตั้งเป็น ผอ.ซีไอเอ เนื่องจากเธอเคยบริหารคุกลับในประเทศไทย และเคยใช้วิธีทรมานผู้ต้องหา เช่น การทำให้ผู้ต้องหารู้สึกเหมือนกำลังจมน้ำ หรือ Waterboarding ในการเค้นข้อมูลจากผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายด้วย

จีนา ฮาสเพล มีกำหนดขึ้นตอบคำถามต่อวุฒิสภาสหรัฐฯ ในวันพุธนี้ และหากเธอได้รับการรับรองจากวุฒิสภาสหรัฐฯ เธอจะเป็นสตรีคนแรกที่รับหน้าที่ ผอ.ซีไอเอ

จีนา ฮาสเพล เคยทำงานในโครงการลับของซีไอเอ และเป็นเจ้าหน้าที่บริหารที่สำนักงานกรุงลอนดอน นอกจากนั้นยังรับผิดชอบงานข่าวกรองช่วงการสิ้นสุดสงครามเย็น และการปราบปรามการก่อการร้ายหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน ค.ศ. 2001

อย่างไรก็ตาม เธอถูกวิจารณ์เรื่องการบริหารคุกลับในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งใน "black sites" ของซีไอเอ ที่ใช้เป็นสถานที่บีบเค้นข้อมูลจากผู้ต้องสงสัย

Gina Haspel
Gina Haspel

วุฒิสมาชิกจอห์น แม็คเคน ประธานคณะกรรมาธิการกิจการทหารของวุฒิสภา กล่าวว่า ในช่วงการกลั่นกรอง จีนา ฮาสเพล จะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับบทบาทของเธอเรื่องการใช้เทคนิคที่อาจเป็นการทรมาน เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลลับ

สว. แม็คเคน กล่าวว่า กฎหมายอเมริกันในปัจจุบันห้ามการทรมานผู้ต้องสงสัย และผู้ที่ได้รับการรับรองให้เป็น ผอ.ซีไอเอ จะต้องให้คำมั่นที่จะปฏิบัติตามกฎหมายนี้

ทั้งนี้เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2014 วุฒิสภาสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานเรื่องคุกลับของซีไอเอ และการใช้เทคนิครุนแรงสอบปากคำผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้าย

ในขณะเดียวกัน บทความของหนังสือพิมพ์ Washington Post ในเรื่องเดียวกันนี้ ระบุว่า คุกลับของซีไอเอในต่างประเทศในช่วงนั้นมีอยู่ 8 แห่ง ใน 5 ประเทศด้วยกัน

ประเทศต่างๆ ที่ให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในเรื่องนี้ มีโปแลนด์ ลิธัวเนีย โรเมเนีย แอฟกานิสถาน และประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการชี้เฉพาะลงไปว่า คุกลับในประเทศเหล่านี้อยู่ที่ไหนบ้าง

XS
SM
MD
LG