การตรวจพบมะเร็งทรวงอกเเต่เนิ่นๆ ช่วยป้องกันการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้ ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ามะเร็งทรวงอกเป็นมะเร็งที่ผู้หญิงทั่วโลกเป็นกันมากที่สุด และขณะนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ กำลังหาทางค้นหาวิธีใหม่ๆ ที่ใช้ตรวจคัดกรองมะเร็งทรวงอกที่ได้ผลดีที่สุด
ในระหว่างการตรวจคัดกรองมะเร็งทรวงอก เจ้าหน้าที่ทางเทคนิคจะถ่ายภาพเอ็กซเรย์ทรวงอกของผู้หญิงทีละข้างด้วยเครื่องแมมโมเเกรม โดยต้องบีบก้อนเนื้อทรวงอกด้วยแผ่นกระจกสองชิ้น เเละต้องถ่ายภาพทรวงอกในทุกมุมอย่างละเอียดถี่ถ้วน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ฉายรังสีจะวิเคราะห์ภาพถ่ายเพื่อตรวจหาก้อนมะเร็ง
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การทำเเมมโมแกรมช่วยรักษาชีวิตผู้หญิงเอาไว้ได้ เเละในสหรัฐฯ จำนวนผู้เสียชีวิตจากมะเร็งทรวงอกได้ลดลงมาราว 30 เปอร์เซ็นต์ ตั้งเเต่เริ่มมีการใช้การตรวจด้วยเเมมโมแกรมเมื่อราว 46 ปีที่เเล้ว เพราะช่วยตรวจพบมะเร็งทรวงอกได้เเต่เนิ่นๆ จึงช่วยให้ผู้ป่วยจะมีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น
เครื่องตรวจเเมมโมเเกรมเป็นเครื่องมือคัดกรองมะเร็งที่ดีที่สุดในขณะนี้ เเต่ยังไม่ถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ ภาพถ่ายเเมมโมเเกรมทรวงอกที่อาจดูเป็นปกติดี เเม้ว่าจะเกิดมะเร็งขึ้นเเล้วก็ตาม หรืออาจดูผิดปกติ เเม้ว่าผู้ป่วยจะไม่เป็นมะเร็งเเต่อย่างใด
ด็อกเตอร์ โอทิส บรอว์ลี่ย์ (Dr. Otis Brawley) เเห่งสมาคมมะเร็งอเมริกัน (the American Cancer Society) กล่าวว่า เเมมโมเเกรมเเบบมาตรฐานเป็นเเบบสองมิติ เเต่สำหรับ 40-50 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่มีทรวงอกที่หนาเเน่นสูง ทั้งก้อนมะเร็งเเละเนื้อเยื่อเต้านมปกติอาจจะมองดูเป็นเเค่ก้อนสีขาวในภาพถ่ายแมมโมแกรมสองมิติ
ส่วนเครื่องเเมมโมเเกรมสามมิติจะเเสดงรายละเอียดของลักษณะเต้านมมากขึ้น ดังนั้นเเมมโมเเกรมสามมิติจะเป็นประโยชน์แก่ผู้หญิงที่ทรวงอกมีความหนาเเน่นสูง
ด็อกเตอร์ บรอว์ลี่ย์ กล่าวว่า เครื่องเเมมโมเเกรมสามมิติอาจจะตรวจพบมะเร็งในขณะที่เเมมโมเเกรมสองมิติอาจตรวจไม่พบ เเต่ข้อเสียในขณะนี้คือราคาที่สูงกว่าเเละใช้ปริมาณรังสีสูงกว่าเ เละให้ผลผิดพลาดว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งมากกว่า
นอกจากราคาที่สูงกว่าเเล้ว ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งในโรงพยาบาลในสหรัฐฯ 13 เเห่ง พบว่าเครื่องตรวจเเมมโมเเกรมสามมิติสามารถตรวจเจอมะเร็งที่ลุกลามเพิ่มขึ้นอีก 40 เปอร์เซ็นต์
เเต่ขณะนี้ มีการทดลองใช้การทำอัลตราซาวน์ทรวงอกทั้งสองข้างได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งมีความชัดเจนของภาพสูง เเละในการตรวจอัลตราซาวด์ทรวงอกนี้ ผู้หญิงต้องนอนหงายในขณะที่เครื่องอัลตราซาวด์เคลื่อนในเเนวขนาน เพื่อไม่ให้พลาดส่วนใดส่วนหนึ่งของทรวงอก
การตรวจนี้ช่วยถ่ายภาพได้ระหว่าง 3,000 - 5,000 ภาพ เเละนักรังสีวิทยาจะนำไปวิเคราะห์ต่อไป
ด็อกเตอร์เม็กฮา การ์จ (Dr. Megha Garg) ผู้อำนวยการโครงการฉายภาพทรวงอกที่ศูนย์มะเร็ง มหาวิทยาลัยเเห่งรัฐมิสซูรี กล่าวว่า นี่เป็นเทคนิคการตรวจคัดกรองมะเร็งทรวงอกวิธีใหม่ ที่สามารถช่วยตรวจคัดกรองมะเร็งได้ละเอียดมากขึ้นในผู้หญิงที่เต้านมมีความหนาเเน่นสูง
การตรวจเต้านมด้วยวิธีทำอัลตราซาวด์ไม่ต้องใช้รังสี ดังนั้นจึงมีอันตรายต่อร่างกายน้อยกว่าการตรวจด้วยเครื่องเเมมโมเเกรม เเต่ด็อกเตอร์การ์จ กล่าวว่า ยังไม่ถึงเวลาที่ต้องเลิกใช้การตรวจเเมมโมเเกรมเเบบมาตรฐาน
ด็อกเตอร์การ์จ กล่าวว่า การตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์นี้ยังไม่สามารถใช้ทดแทนเครื่องแมมโมแกรมได้ เพราะการทำเเมมโมเเกรมยังถือเป็นมาตรฐานที่ดีที่สุดในการตรวจคัดกรองมะเร็งทรวงอกในปัจจุบัน เเต่เครื่องตรวจเเบบอัลตราซาวด์นี้ช่วยได้ในกรณีที่ผู้หญิงมีความหนาเเน่นของเต้านมสูงกว่าปกติ
ในขณะที่ในอเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันตก เเละออสเตรเลีย มีอัตราการเกิดมะเร็งทรวงอกสูงที่สุด โดยทางองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) รายงานว่า เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วย เเละเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ของผู้เสียชีวิตจากมะเร็งทรวงอก เกิดขึ้นในประเทศที่ด้อยพัฒนากว่า
เเละหากวงการเเพทย์สามารถปรับปรุงการตรวจคัดกรองมะเร็งทรวงอกเเละการบำบัดให้ดีขึ้นได้ องค์การอนามัยโลกเชื่อว่าจะสามารถรักษาชีวิตผู้หญิงทั่วโลกเอาไว้ได้อีกอย่างน้อย 400,000 คนต่อปี
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)