ปี ค.ศ. 2020 ที่ผ่านพ้นไป เป็นปีที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายบนโลก โดยเฉพาะการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี ทำให้มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 83 ล้านคนทั่วโลก และเสียชีวิตมากกว่า 1.8 ล้านคน ซึ่งทำให้เกิดคำถามสำคัญตามมาหลายคำถาม รวมทั้ง โลกจะสามารถกลับคืนสู่ภาวะปกติได้อีกหรือไม่? เมื่อใด? และวัคซีนจะใช้ได้ผลหรือไม่?
ก่อนที่จะเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ดูเหมือนโลกของเราก็วุ่นวายไม่น้อยจากปัญหาเศรษฐกิจ สงคราม ความรุนแรงทางชาติพันธุ์ ความยากจน และความวุ่นวายทางการเมืองโลก แต่การระบาดของโคโรนาไวรัสยิ่งทำให้ทุกอย่างไร้การควบคุม
ผู้คนตกงานหลายล้านคน ธุรกิจต่าง ๆ ปิดตัวลงไปเป็นจำนวนมาก การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่กลายเป็นลบ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่าอาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว
อาจารย์สตีเฟน โรช แห่งมหาวิทยาลัยเยล และอดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารมอร์แกน สเตนลีย์ ในนครนิวยอร์ก กล่าวว่า "แม้การระบาดของโควิด-19 อาจยุติลงได้เพราะการฉีดวัคซีน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจโลกจะมีภูมิคุ้มกันจากผลกระทบในระยะยาวตามไปด้วย"
นักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้ชี้ว่า ผลการวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับผลกระทบของการระบาดใหญ่ 19 ครั้งตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ที่ล้วนมีผู้เสียชีวิตเกิน 100,000 คน พบว่าการระบาดเหล่านั้นล้วนส่งผลให้เศรษฐกิจเสียหายในระยะยาวทั้งสิ้น
ตัวอย่างเช่น ผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของกาฬโรคในยุคกลางส่งแรงสะเทือนยาวนานต่อความเป็นอยู่ของผู้คนในอังกฤษและอิตาลีนานหลายปีหลังจากการระบาดสิ้นสุดลง อ้างอิงจากบทความของนักประวัติศาสตร์ ทอม เจมส์ ที่เผยแพร่โดย BBC
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในระยะยาว
สตีเฟน มาชิน ผอ.ศูนย์สมรรถภาพทางเศรษฐกิจของ London School of Economics กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงในวิถีการเดินทาง การเข้าสังคมและการจับจ่ายซื้อสินค้า จะปรับเปลี่ยนภาคธุรกิจบางอย่างในระยะยาว ขณะที่ความไม่แน่นอนต่อทิศทางของการระบาดก็ยิ่งทำให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างล่าช้า นั่นหมายความว่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นก็ยิ่งรุนแรงกว่าที่คาดกันไว้
ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัวลงจากเดิม 7% ขณะที่สหประชาชาติคาดการณ์ว่าจะมีประชากรโลกเข้าสู่ภาวะยากจนอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นราว 207 ล้านคนเป็นมากกว่า 1,000 ล้านคน ภายในปี ค.ศ. 2030
นักเศรษฐศาสตร์หลายคนต่างกังวลว่า การระบาดใหญ่ครั้งนี้จะยิ่งทำให้ประเทศต่าง ๆ หันหน้าหนีจากโลกาภิวัฒน์แล้วหันไปใช้นโยบายปกป้องประเทศตนเองมากยิ่งขึ้น ขณะที่ไบรอัน เบลล์ นักเศรษฐศาสตร์จาก King’s College London เชื่อว่า คนบางกลุ่มจะได้รับผลกระทบรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น คนยากจนจะเจ็บตัวมากกว่าคนฐานะดี และหนุ่มสาวจะเป็นกลุ่มที่ตกงานมากที่สุด
ด้านสถาบัน Oxford Economics ชี้ว่า ประเทศที่ยากจนจะเสียหายทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 มากกว่าประเทศร่ำรวย เนื่องจากความอ่อนแอของตลาดแรงงาน ความไม่สมดุลทางการเงิน และข้อจำกัดของรัฐบาลในการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อพยุงเศรษฐกิจ โดยยกตัวอย่าง ฟิลิปปินส์ เปรู โคลอมเบีย มาเลเซีย อินเดีย และอาร์เจนตินา คือส่วนหนึ่งของประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากการระบาดครั้งนี้มากที่สุด
มองโลกแง่ดีจากการระบาดใหญ่ครั้งนี้
แม้จะยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ชัดเจนที่ปลายอุโมงค์ แต่นักวิเคราะห์บางคนยังมองเห็นแง่ดีจากการระบาดครั้งนี้ เช่นการผลักดันให้เกิดความร่วมมือทางสังคมในด้านต่าง ๆ การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการใช้เวลาร่วมกันในครอบครัว
ในหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯ และในยุโรป เกิดกลุ่มความช่วยเหลือผุดขึ้นทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ มากมายในช่วงการระบาด ทั้งระดมเงิน สิ่งของ และลงแรงช่วยเหลือคนที่หิวโหย คนยากจน คนด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ ซึ่งล้วนเชื่อมโยงผู้คนในชุมชนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
พนักงานเงินเดือนจำนวนมากได้รับอนุญาตให้ทำงานจากบ้านในช่วงโควิด-19 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าแนวโน้มนี้จะดำเนินต่อไปหลังการระบาดสิ้นสุดลง ทำให้ผู้คนจำนวนมากมีเวลากับครอบครัวหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ มากขึ้น และสามารถตัดสินใจเรื่องการรักษาสมดุลระหว่างงาน ครอบครัว และการพักผ่อนได้มากขึ้น
นอกจากนี้ การที่ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเดินทางไปทำงานในแต่ละวันก็อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการคมนาคมและขนส่งมวลชนต่าง ๆ ได้อีกทางหนึ่ง อ้างอิงจากรายงานของสถาบัน Capital GES
นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมหลายคน ชี้ว่า การระบาดของโควิด-19 คือโอกาสที่ดีที่เราจะหันมาทบทวนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น เพื่อเริ่มต้นการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของโลกอย่างจริงจัง
ดังที่ อิงเกอร์ แอนเดอร์สัน ผอ.โครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ ได้กล่าวไว้ว่า "หากปี 2020 จะช่วยสอนอะไรบางอย่างให้แก่เราได้ นั่นคือเราไม่สามารถมีมนุษย์ที่สุขภาพดี และโลกที่สุขภาพดีได้ทั้งสองอย่างพร้อมกัน"