คอลิน แอนเดอร์สัน (Colin Anderson) และ เครน โทล (Krijn Tol) ชายชาวอังกฤษและชาวดัตช์ ที่อาศัยอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เดินทางมาฉลองปีใหม่ที่ประเทศไทยทุกปี ในช่วงยี่สิบห้าปีที่ผ่านมา ทั้งสองคนรู้จักสถานที่ท่องเที่ยวในไทยเป็นอย่างดี คอลินบอกว่าเขาชอบอาหารไทยมาก ส่วนเครนบอกว่าอาหารไทยบางอย่างเผ็ดเกินไปสำหรับเขา แต่เสน่ห์อย่างอื่นของไทยทำให้เขากลับมาเที่ยวทุกปี
"ทุกคนเป็นมิตรและสุภาพมาก ผมชอบอากาศที่ไทยด้วย เป็นอากาศฤดูร้อนที่ทำให้ผมชอบไปชายหาด ผมชอบมาก" เครนให้สัมภาษณ์ผ่านวีดีโอคอล
แต่ปีนี้เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ที่ทั้งคอลินและเครน งดเดินทางไปประเทศไทย ถึงแม้รัฐบาลไทยจะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นส่วนใหญ่
เงื่อนไขสำคัญของการเปิดประเทศ คือการที่นักท่องเที่ยวจะต้องเข้ารับการกักตัวในโรงแรม สถานที่สำหรับชาวต่างชาติ หรือ alternative state quarantine (ASQ ) เป็นเวลา 14 วัน ซึ่งเงื่อนไขข้อนี้เอง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คอลิน ตัดสินใจไม่เดินทางไปประเทศไทยในเดือนนี้ ถึงแม้ว่าเขาจะซื้อตั๋วเครื่องบินเตรียมไว้แล้วก็ตาม
"ผมเตรียมจะจ่ายค่าโรงแรมเพื่อกักตัวเป็นเวลา 14 วันแล้ว แต่สุดท้ายเมื่อมาคิดว่าผมจะต้องใช้เวลา 14 วันนั่งอยู่ในห้องเฉย ๆ กินอาหารที่โรงแรมจัดเตรียมมาให้ ผมก็ตัดสินใจได้ว่ามันเกินไป ถ้าผมมีเวลาไปอยู่ไทยสามถึงสี่เดือน ผมคงจะทำ แต่ผมมีวันหยุดแค่ห้าถึงหกสัปดาห์" คอลินกล่าวกับวีโอเอไทย
ส่วนเครน เพื่อนของคอลินที่มีวันหยุดเพียง 3 สัปดาห์ในช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น ของไทยให้เหตุผลเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
"ผมคิดว่าการกักตัวมีราคาแพงเกินไป เพราะเราต้องอยู่ในโรงแรม ซึ่งก็มีราคาแพง ประมาณ 2,000 ดอลล่าร์ (ประมาณ 60,000 บาท) ซึ่งทำให้ไม่น่าไปเที่ยว"
คอลิน และเครน กล่าวว่าพวกเขาชื่นชมการทำงานของไทยและเคารพกฎเกณฑ์ที่ทางการตั้งขึ้นเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 แต่เสียงของพวกเขา สะท้อนให้เห็นความท้าทายของรัฐบาลไทย ที่ต้องควบคุมและป้องกันการระบาดของโควิด-19 ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักมานานหลายเดือนจากมาตรการโควิด-19 ที่เข้มงวด
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งประเทศไทย รายงานว่าตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงตุลาคม มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยลดลงเกือบ 80% จาก 32.6 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เหลือเพียง 6.7 ล้านคน และทำให้รายได้การท่องเที่ยวลดลงถึง 71% จากประมาณ 40,300 ล้านบาท เหลือเพียง 11,000 ล้านบาท
ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้มาเยือนมากที่สุดเป็นอันดับที่ 9 ของโลก ตามการจัดลำดับขององค์กรการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 39.8 ล้านคน แต่ในปีนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพียง 8 ล้านคนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เบตซี่ พาลเมอร์สตัน (Betsy Palmerston) นักท่องเที่ยวชาวแคนาดา ที่มาเที่ยวประเทศไทยตั้งแต่เดือนมกราคม และอยู่ต่อมาจนถึงทุกวันนี้ หลังจากที่เที่ยวบินของเธอถูกยกเลิกสามครั้งเพราะโควิด-19 กลับมองว่าการกักตัว 14 วัน เป็นความ “ชั่วร้ายที่จำเป็น” หรือ “necessary evil” ที่ทำให้ไทยเป็นประเทศที่ปลอดภัยจากโควิด-19 เมื่อเทียบกับประเทศอื่น
"ฉันคิดว่าการกักตัวอาจจะเป็นอุปสรรคของเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยว แต่ก็เป็นอุปสรรคที่ได้ผล"
เบตซี่กล่าวว่าก่อนที่จะมีการระบาดรอบใหม่ในจังหวัดสมุทรสาครที่ลุกลามไปสู่จังหวัดอื่น ๆ เธอเห็นได้ว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พบในไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และมีการตรวจพบเชื้อในช่วงกักตัวแทบทั้งนั้น ซึ่งถ้าไม่มีการกักตัว 14 วันก็อาจจะทำให้เกิดการระบาดของโควิด-19 ไปสู่คนในประเทศได้
นี่เป็นปีที่ 4 แล้วที่หญิงชาวแคนาดาวัย 53 ปีผู้นี้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อหลบลมหนาวของประเทศบ้านเกิด และเป็นปีแรกที่เธอแทบจะไม่เห็นนักท่องเที่ยวตามสถานที่สำคัญ ๆ ในกรุงเทพ
"ฉันไปเที่ยวภูเขาทอง (วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร) มา ข้างบนนั้นมีแค่ฉันกับนักท่องเที่ยวอีก 2 คนเท่านั้น มันเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์มาก แต่ในขณะเดียวกัน ฉันก็รู้สึกไม่ดีและเห็นใจคนที่ต้องหาเลี้ยงชีพ หรือพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ"
ที่ผ่านมาผู้ประกอบการท่องเที่ยว สมาคมโรงแรม และหลายภาคส่วนได้เสนอให้ลดเวลาการกักตัวจาก 14 วันให้เหลือ 10 วัน บ้างก็เสนอให้มีการทำ "ทราเวล บับเบิล" (travel bubble) หรือ "ระเบียงท่องเที่ยว" เปิดพรมแดนกับประเทศคู่พันธมิตรเพื่อให้ประชาชนทั้งสองชาติเดินทางเข้าออกโดยไม่ต้องกักตัว ซึ่งก่อนหน้านี้รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี น.ส.รัชดา ธนาดิเรก บอกกับวีโอเอไทยว่า รัฐบาลได้ทบทวนมาตรการต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดและส่งเสริมการท่องเที่ยว
“ภาคท่องเที่ยวเขาก็อยากให้เปิด แต่ประชาชนทั่วไปเขาก็มองอีกแบบหนึ่ง มันเป็นเรื่องการสื่อสาร จังหวะ และการทำความเข้าใจ ระยะเวลาด้วย บางทีเหมือนจะเข้าใจ ๆ แต่พอมีเหตุอะไรขึ้นมาก็ทำให้เกิดเป็นความกังวลอยู่” น.ส.รัชดา กล่าว
แต่หลังจากที่มีการระบาดระลอกใหม่ในเดือนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวผ่านแถลงการณ์ว่าไทยยังจะต้องระมัดระวังเรื่องมาตรการผ่อนคลายให้คนต่างชาติเดินทางเข้าไทยต่อไป โดยให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวชาวอเมริกันอย่าง ไมเคิล อาการ์ด (Michael Agard) กล่าวกับวีโอเอไทยว่า เขาจะกลับมาเที่ยวไทยอีกแน่นอน หลังจากที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 แล้ว
ปีนี้เป็นปีแรกในรอบ 15 ปี ที่ไมเคิล และครอบครัวใหญ่ไม่ได้มาฉลองเทศกาลปีใหม่ที่จังหวัดพังงาอย่างที่เคยทำเป็นประจำทุกปี ซึ่งแน่นอนว่าทำให้เขารู้สึกเสียดายและผิดหวัง
"ผมคิดถึงครอบครัว เพราะปกติครอบครัวทางสวีเดนและอเมริกันของผมจะไปเจอกันที่ไทย ปกติเราก็เจอกันปีละครั้ง ผมยังคิดถึงอาหารไทยมาก ๆ คิดถึงการเดินไปตลาด ไปซื้อโรตีกิน และการเดินไปชายหาด"
ถึงอย่างนั้น ในปีที่เต็มไปด้วยความท้าทายอย่างใหญ่หลวงที่เกิดจากโควิด-19 ปีนี้ ไมเคิลไม่ลืมที่จะเตือนสติตัวเองว่า หากการไม่ได้เดินทางไปเที่ยวประเทศไทยเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นในปีนี้ ก็นับว่าเขาเป็นคนที่โชคดีมาก ๆ แล้ว