ในช่วงปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นเวลาที่ผู้ที่อยู่ในสหรัฐฯ ประสบปัญหามากมาย โดยเฉพาะผลกระทบจากการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่ทำให้สภาพการใช้ชีวิตทางสังคมและทางเศรษฐกิจมีความลำบากยุ่งยากมากขึ้นกว่าที่เคย
เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน มนัสวี ศรีโสดาพล ซึ่งเพิ่งเดินทางมารับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคมกล่าวว่า ทางสถานทูตและสถานกงสุลทุกแห่ง ทั้งที่มหานครนิวยอร์ก นครชิคาโก และนครลอส แอนเจลิส ต้องทำงานหนักขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางภาวการณ์ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่รุนแรงขึ้นอย่างมากตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคมของปีที่แล้ว
ในส่วนของความเป็นอยู่ในสหรัฐฯ ของชาวไทย ท่ามกลางกระแสเหยียดผิวต่อผู้มีเชื้อสายเอเชีย อันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังเช่น กรณีของ นายวิชา รัตนภักดี ชายไทย วัย 84 ปี ที่ถูกวัยรุ่นอเมริกันวัย 19 ปีทำร้ายและเสียชีวิตในเวลาต่อมา และทำให้เกิดกระแสความกังวลและความกลัวในหมู่ชาวไทย และความไม่พอใจของประชาชนทั่วไปผู้ประณามเหตุการณ์ดังกล่าว นายมนัสวี ตระหนักดีถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และรับทราบถึงปฏิกิริยาจากผู้คนในสังคม โดยระบุว่า “เท่าที่เราทราบ ก็มีการแสดงออกโดยกลุ่มคนเอเชียต่างๆ ใน สหรัฐฯ แสดงความกังวลเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น ก็ทางรัฐบาลก็คิดว่า เขาคงระมัดระวังมากขึ้นนะ ให้ความสำคัญกับการคุ้มครอง เขาก็ต้องคุ้มครองทุกคนในสหรัฐฯ ไม่ใช่เฉพาะคนเอเชีย แต่เราก็อยากให้เขาระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะมันมีเหตุการณ์ส่อให้เห็นว่า เป็นการเหยียดผิวเกิดขึ้นกับคนเอเชียเยอะ”
อย่างไรก็ดี เอกอัครราชทูตไทย ยอมรับว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าห่วง “เพราะการเลือกปฏิบัติทางผิว การเกลียดชัง ก็เป็นสิ่งไม่เป็นที่พึงประสงค์ และไม่ว่าจะสังคมใดก็แล้วแต่ พอเกิดขึ้นกับชาวเอเชียด้วยกัน พอเกิดขึ้นกับคนไทยด้วยกัน และยิ่งถ้าคนไทยเสียชีวิตเนี่ย เราก็มีความกังวล ... เราได้แสดงความกังวลกับฝ่ายสหรัฐฯ ด้วย ให้ เขาคอยดูแลคนเอเชียคนไทยในประเทศเขา ...แล้วก็ ในกรณีที่มันมีเหตุการณ์อย่าง ที่มีคนเสียชีวิตเนี่ย ทางสถานกงสุลก็ได้มีหนังสือถึงนายกเทศมนตรี เพื่อขอให้ได้รับความเป็นธรรม และให้นำผู้กระทำผิดมาลงโทษ”
นอกจากประเด็นต่างๆ ที่ว่าแล้ว นายมนัสวี กล่าวด้วยว่า การเดินทางเข้าประเทศไทยมีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่าปกติเพราะวิกฤตโควิด-19 ทำให้หน่วยงานตัวแทนรัฐบาลไทยทั้งหมดต้องเร่งช่วยเหลือชาวไทยที่ต้องการเดินทางกลับบ้าน ด้วยการจัดเที่ยวบินและออกเอกสารที่จำเป็นมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนสามารถอำนวยความสะดวกในการพาชาวไทยออกเดินทางไปแล้วหลายพันคน ขณะที่ มีภารกิจมากมายที่ทางสถานทูตต้องพยายามติดตามเพื่อช่วยเหลือสมาชิกในชุมชนไทยที่มีอยู่ทั่ว 50 รัฐของประเทศ และมีตัวเลขชาวไทย รวมกันแล้วสูงถึงกว่า 500,000 คนเลยทีเดียว
“เราก็ต้องพยายามดูว่า ถ้ามีข้อมูลอะไร ที่เราพอจะแนะนำเขาได้ เราก็แนะนำ กรณีที่มันมีเหตุการณ์อย่างที่ เท็กซัส เมื่อเร็ว ๆ นี้ ไฟฟ้าดับ ทางสถานทูตก็ได้ติดต่อกับชุมชนไทยที่เท็กซัส ผมเองก็ได้มีคุยกับกงสุลกิตติมศักดิ์ของไทย ที่เท็กซัส เพื่อสอบถามความเป็นอยู่ของคนไทยว่าได้รับผลอย่างไรหรือไม่ นั่นคือ หน้าที่ของเรา” เอกอัครราชทูตไทย กล่าวกับ วีโอเอ ไทย
ขณะเดียวกัน สถานการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ประเทศไทย ซึ่งนำมาสู่การแสดงความคิดเห็นจากผู้สนับสนุนของสองแนวคิดที่แตกต่าง เป็นอีกประเด็นที่เอกอัครราชทูตไทยเปิดเผยว่า ได้มีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกับทางตัวแทนรัฐบาลสหรัฐฯ บ้าง และกล่าวว่า “มีก็ส่วนใหญ่เป็นการแสดงความหวังว่า ประเทศ ไทยจะพัฒนาไปทิศทางที่กำลังพัฒนาอยู่ในเรื่องของประชาธิปไตย และก็หวังว่า จะรักษา หรือ ให้ความสำคัญกับค่านิยมต่างๆ ซึ่งก็สอดคล้องกับค่านิยมที่คนไทยและรัฐบาลไทยที่ผ่านมาสนับสนุนอยู่แล้ว อันนั้นก็เป็นเรื่องของ สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งเราก็รักษาสิทธิเสรีภาพอย่างนี้มาตลอด”
แต่ นายมนัสวี ย้ำว่า การแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพใดๆ นั้น จำต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายเสมอ
“สหรัฐฯ เอง เขาก็เจอปัญหาเมื่อวันที่ 6 มกราคม ที่เขาถูกผู้ประท้วงบุกเข้าไปในรัฐสภาของสหรัฐฯ มันก็สะท้อนให้เห็นว่า สิทธิในการแสดงออกเนี่ย ในที่สุด มันก็ต้องมีขอบเขตจำกัดตามกฎหมายที่มีอยู่ แต่ก็ควรจะอนุโลมให้มีการประท้วง หรือให้มีการแสดงออกตามปกติ”
ท้ายที่สุด เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน กล่าวย้ำว่า คนไทยที่อยู่ในสหรัฐฯ นั้น ควรทำหน้าที่ของตนในทิศทางที่ส่งเสริมความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสองพันธมิตรที่มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันมานานหลายร้อยปีให้คงอยู่สืบไป
“การทำงานและนโยบายนั้น คือขอให้คนไทยนึกถึงสหรัฐฯ ว่า เป็นแหล่งการค้าขาย เป็นแหล่งการลงทุนนะ เรามาลงทุนในสหรัฐฯ และเขาก็มาลงทุนในไทย การค้าขายเพิ่มขึ้นมาก ก็อยากจะให้ช่วยกันรักษาบรรยากาศความสัมพันธ์ ความเป็นมิตรให้ต่อเนื่องต่อไป” นายมนัสวี กล่าวทิ้งท้ายไว้