นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไทย กล่าวกับวีโอเอไทยถึงการเสนอมติของสมาชิกคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ เกี่ยวกับสถานการณ์ประชาธิปไตยในไทยว่า “อาจได้รับข้อมูลคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสถานการณ์ในไทย” พร้อมยืนยัน “ยังไม่มีผู้ถูกดำเนินคดีเพียงเพราะการชุมนุมโดยสงบ”
“ประเทศไทยยึดมั่นหลักประชาธิปไตยและเคารพเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการชุมนุมอย่างสงบ โดยเปิดกว้างให้มีการชุมนุมอย่างต่อเนื่องหลายเดือน และพร้อมแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ชุมนุม”
“แต่การดำเนินการของผู้ชุมนุมหลายกรณีไม่อาจถือว่าเป็นการชุมนุมอย่างสงบ และเสี่ยงที่สถานการณ์จะลุกลามจนเกิดความรุนแรง รัฐบาลจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุมและสาธารณชน หากมีผู้ทำผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย” นายอนุชากล่าว
เขายังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลกำลังอยูในขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม และจะต้องมีการทำประชามติต่อไป
“การดำเนินการเหล่านี้เป็นกระบวนการภายในที่ต้องใช้เวลา จึงหวังว่าสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมิตรของไทยมายาวนานจะเข้าใจและสนับสนุน”
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา สมาชิกคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครตจำนวนเก้าคน รวมถึงพ.ท. หญิง ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ เชื้อสายไทย ได้ยื่นขอมติวุฒิสภา เพื่อเน้นพันธสัญญาของสหรัฐฯ ต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และหลักนิติธรรมในไทย หลังมีการประท้วงมาอย่างต่อเนื่อง
มติฉบับนี้มีข้อเรียกร้องถึงวุฒิสภาห้าข้อ รวมถึงการสนับสนุนชาวไทยในการเรียกร้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปกป้องและสนับสนุนสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติ เสรีภาพในการแสดงออก ปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมืองทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข หยุดคุกคามข่มขู่ ผู้เข้าร่วมประท้วง โดยมีผู้ประท้วงถูกจับกุมแล้วกว่า 170 คนนับตั้งแต่มีการชุมนุมมา
มติดังกล่าวยังเรียกร้องให้วุฒิสภาสหรัฐฯ ระบุอย่างชัดเจนว่าการทำรัฐประหารเพื่อแก้วิกฤติทางการเมืองในปัจจุบันจะทำให้เกิดผลในทางตรงกันข้าม และอาจส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-ไทย มากขึ้น
มติของส.ว. สหรัฐฯ พรรคเดโมแครตกลุ่มดังกล่าว ยังระบุถึงพัฒนาการสถานการณ์การเมืองไทยมีการระบุถึงการเลือกตั้งของไทยเมื่อปีพ.ศ. 2562 ว่า “มีกลุ่มติดตามการเลือกตั้ง อิสระหลายกลุ่ม ระบุว่ามีข้อพร่อง และเอนเอียงเพื่อให้กลุ่มอำนาจทหาร ที่มีพรรคของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยได้รับการสนับสนุนจากวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคณะทหารและไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง”
ทางด้านนายอนุชา ระบุว่า การที่สหรัฐฯ รับรองการกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตยและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของไทยเมื่อปีที่แล้ว ถือเป็นหนึ่งในพัฒนาการเชิงบวกนับตั้งแต่พลเอกประยุทธ์เดินทางเยือนสหรัฐฯ แบบทวิภาคีเมื่อปีพ.ศ. 2560
“หวังว่าสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมิตรของไทยมายาวนานจะเข้าใจและสนับสนุน” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไทย กล่าว “ (สหรัฐฯ ยัง) ยืนยันที่ไม่แทรกแซงกิจการภายในของไทย”
ท่าทีของส.ว.สหรัฐฯ มีขึ้นหลังองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศต่างๆ รวมถึงสำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แสดงความกังวลถึงสถานการณ์การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในไทยที่ดำเนินมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และทวีความตึงเครียดมากขึ้นในเดือนตุลาคม เมื่อรัฐบาลไทยตัดสินใจประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง รวมถึงการควบคุมและจับตัวนักกิจกรรม
รัฐบาลอเมริกันในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าภายใต้การบริหารของพรรคใด ไม่มีความสนใจเข้ามาแทรกแซงการเมืองภายในของไทย อย่างที่เคยทำในอดีตสมัยสงครามเย็นอีกต่อไปสิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำนักข่าวประชาไทรายงานเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้มีนักกิจกรรมที่ขึ้นปราศรัยจำนวน 17 คน ได้รับหมายเรียกรับทราบข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่กำหนดบทลงโทษการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หลังจากไม่ปรากฎข่าวการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้มากว่าสองปีแล้ว
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาไทย ยังมีมติรับหลักการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ตามการเสนอของของพรรคร่วมรัฐบาล ที่เสนอให้ ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้ง 150 คน และเลือกจากกลุ่มต่างๆ 50 คน และฉบับพรรคฝ่ายค้านที่เสนอให้ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ร่างฉบับอื่นๆ ที่เสนอให้มีการลดอำนาจส.ว. ยกเลิกการคุ้มครองประกาศหรือคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ การแก้ระบบบัตรเลือกตั้ง รวมถึงฉบับประชาชนที่เสนอโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ที่มีประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายจำนวน 98,071 ชื่อนั้น ถูกที่ประชุมร่วมของสภาตีตกไป
นักวิชาการวิเคราะห์ มติส.ว.สหรัฐฯ อาจยังไม่มีอิทธิพลต่อทิศทางการเมืองไทย
สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า มติของส.ว. สหรัฐฯ ฉบับนี้ เป็น simple resolution หรือ “มติธรรมดา” ที่เป็นความเห็น ความสนใจส่วนตัวของสมาชิกสภาคองเกรส ที่อาจเสนอจากทีมงานผู้ช่วย ที่มีอยู่จำนวนมาก ซึ่งบางคนอาจมีความรู้ เอาใจใส่ประเทศไทยเป็นพิเศษ
“ทั้งสมาชิกสภาคองเกรสและทีมผู้ช่วย ทำงานเป็นอิสระจากฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี ส่วนใหญ่ไม่มีอำนาจชี้นำหรือมีผลต่อการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร”
“เส้นทางของมตินี้ อาจจะถูกนำไปอภิปรายในกรรมาธิการการต่างประเทศ หรืออาจถูกปัดตกไปขึ้นอยู่กับ (ประธาน) กรรมาธิการ และแม้จะถูกบรรจุในวาระของวุฒิสภา ก็จะไม่ถูกส่งต่อไปยังสภาผู้แทนราษฎร ด้วยสถานะที่เป็นมติธรรมดา” อาจารย์สิริพรรณกล่าว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ยังวิเคราะห์ด้วยว่า หลังว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม อาจยังต้องรอดูความชัดเจนในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงความสัมพันธ์กับไทยและประเทศในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกเพื่อการต่อรองกับจีน โดยอาจประเมินได้มากขึ้นหลังมีการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยคนใหม่ แทนคนปัจจุบันที่มาจากการแต่งตั้งทางการเมืองและจะออกจากตำแหน่งพร้อมการหมดวาระของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
“ที่จริงแล้ว รัฐบาลอเมริกันในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าภายใต้การบริหารของพรรคใด ไม่มีความสนใจเข้ามาแทรกแซงการเมืองภายในของไทย อย่างที่เคยทำในอดีตสมัยสงครามเย็นอีกต่อไป”
อาจารย์สิริพรรณทิ้งท้าย “สหรัฐฯ มองว่ารัฐบาลที่เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ และรู้จักรักษาผลประโยชน์ของตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาประเทศใดคือรัฐบาลที่สหรัฐต้องการเป็นพันธมิตรมากที่สุด โดยไม่ได้ให้ความสำคัญนักว่าใครหรือพรรคใดจะเป็นผู้นำรัฐบาล”