สื่อต่างประเทศรายงานข่าว ไทยยุบสภาฯ ในวันจันทร์เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยจะเป็นการชิงชัยกันระหว่างกลุ่มการเมืองที่มีทหารหนุนหลัง กับกลุ่มตระกูลชินวัตรที่ชนะการเลือกตั้งตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยุบสภาผู้แทนราษฎร มีผลวันที่ 20 มี.ค. 2566 เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 - 60 วัน
และแม้จะยังไม่มีการประกาศวันเลือกตั้ง แต่รอยเตอร์รายงานอ้างแหล่งข่าวว่า การเลือกตั้งอาจจะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม โดยคาดว่าจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการในสัปดาห์หน้า
สำนักข่าวเอพี รายงานว่า มีประชาชนไทยมากกว่า 52 ล้านคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง จากประชากรทั้งหมดกว่า 66 ล้านคน โดยการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการแข่งขันกันของพรรคฝ่ายค้าน เพื่อไทย ที่มีอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร หนุนหลัง และมีแพทองธาร บุตรสาววัย 36 ปีของทักษิณ เป็นหนึ่งในผู้นำพรรค กับพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของกลุ่มอำนาจเก่าที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพ
ทั้งนี้ พรรคการเมืองที่มีตระกูลชินวัตรเป็นผู้นำ ชนะการเลือกตั้งโดยได้ที่นั่งมากที่สุดนับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2001 แต่ต้องถูกล้มรัฐบาลหลายครั้งทั้งจากการรัฐประหาร คำตัดสินของศาล และกฎหมายเลือกตั้งที่เอื้อต่อพรรคการเมืองที่มีทหารหนุนหลัง
บีบีซี รายงานว่า ขณะนี้พรรคการเมืองหลายสิบพรรคได้เริ่มการหาเสียงไปแล้ว พื้นที่บนทางเท้าต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ได้หดหายไปเพราะป้ายหาเสียงของพรรคการเมืองที่เต็มไปด้วยคำสัญญาที่ให้กับประชาชน
และในที่สุดแล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยเดียว คือพรรคเพื่อไทยจะสามารถได้เก้าอี้จำนวนมากพอที่จะสามารถทวงอำนาจกลับคืนมาได้หรือไม่? ซึ่งผลสำรวจเกือบทุกสำนักที่ผ่านมาต่างคาดการณ์ว่า เพื่อไทยจะกลับมาเป็นพรรคที่มีจำนวนผู้แทนมากที่สุดเหมือนที่เป็นมาตลอดการเลือกตั้ง 22 ปีที่ผ่านมา ด้วยเสียงสนับสนุนของประชาชนในภาคเหนือและภาคอีสานที่มีต่อทักษิณ ชินวัตร
สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า สิ่งที่ยังต้องจับตามองต่อไปคือ กลุ่มชนชั้นนำและกองทัพจะสามารถยอมรับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มีความเชื่อมโยงกับทักษิณได้หรือไม่
ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับเอเอฟพีว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็น "การเลือกตั้งที่ส่งผลต่อเนื่องมากที่สุดในช่วงชีวิตของตน" ซึ่งจะเป็นการตัดสินว่าประเทศไทย "จะสามารถทำลายที่กำบังและสภาพความชินชาที่ยาวนานร่วมสองทศวรรษ" ได้หรือไม่
และหากพรรคเพื่อไทยไม่สามารถกวาดที่นั่งได้อย่างถล่มทลาย ก็มีโอกาสที่พรรคซึ่งมีทหารหนุนหลังสองพรรคหรือมากกว่านั้น อาจร่วมกันตั้งกลุ่มพันธมิตรเพื่อตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้
- เนื้อหาบางส่วนจากเอพี เอเอฟพี รอยเตอร์ และบีบีซี