มีมี่ เทา เป็นนางแบบไทยที่ไปสร้างชื่อเสียงในสหรัฐฯ ด้วยความโดดเด่นของโครงสร้างใบหน้ากับทักษะในการเดินแบบ เธอได้สร้างประวัติศาสตร์เป็นนางแบบข้ามเพศคนแรกที่ได้รับเลือกให้เข้าแข่งรายการแฟชั่นเรียลลิตีโชว์ชื่อดัง อย่าง Project Runway แต่กว่าจะมาเป็นที่รู้จักในวงการถึงขนาดนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
มี่มี่ หรือ พชรณัฎฐ โนบรรเทา ออกตามฝันการเป็นนางแบบที่มหานครนิวยอร์กเมื่อปี พ.ศ. 2560 โดยในช่วงแรก เธอเดินเข้าออกเอเจนซี่ หรือบริษัทตัวแทนนางแบบนายแบบหลายแห่ง ถึงแม้จะโดนปฏิเสธบ้าง โดนเรียกเก็บเงินบ้าง แต่เธอก็ไม่สู้ไม่ถอย จนสามารถหาเอเจนซี่ที่ยอมเซ็นต์สัญญาเป็นตัวแทนให้เธอได้ในที่สุด
หลังจากนั้นเธอเริ่มเดินสายสมัครเข้าไปคัดตัวเป็นนางแบบให้ห้องเสื้อหลายแห่งในนิวยอร์ก เธอยังยอมรับงานเดินแบบที่ไม่ได้ค่าตอบแทนเพื่อเก็บประสบการณ์และสร้างผลงานให้เป็นที่รู้จัก ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2560 เธอจะสามารถคว้างานเดินแบบใน New York Fashion Week งานสัปดาห์แฟชั่นชื่อดังในมหานครนิวยอร์กได้เกือบยี่สิบโชว์
“ความตื่นเต้นมาจะอยู่ตรงที่ว่ามาเจออะไรใหม่ ๆ การทำงานแบบใหม่ ๆ แคสติ้ง (การคัดเลือกตัวนางแบบนายแบบ) แบบใหม่ ๆ เหมือนกับมาซี่ซั่นแรก มี่เป็นหน้าใหม่ ที่ทุกคนแบบว่า คนนี้เป็นใคร ไม่เคยเห็นหน้ามันเลย มันมาจากไหน ซึ่งปีแรกมี่บุ๊ค 17 โชว์ของ New York Fashion Week รู้สึก proud (ภูมิใจ) มาก แล้วตอนนั้นรู้สึกว่ามันเป็นปีแรก เราต้องทำให้ดีที่สุด เราก็ไปแคสติ้งทุกงาน ได้ยินข่าวที่ไหน งานฟง งานฟรี อะไรแบบนี้มี่ไปหมด”
นางแบบข้ามเพศชาวไทยบอกว่าเธอชื่นชอบที่วงการแฟชั่นในฝั่งอเมริกาให้การยอมรับบุคคลข้ามเพศหรือ transgender มากกว่าในหลายประเทศ นอกจากนี้นักออกแบบเสื้อผ้าหลายคนที่นิวยอร์กยังนิยมนางแบบและนายแบบที่มีโครงหน้าที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีใบหน้าหวาน หรือนางแบบที่มีลุค หรือ บุคลิกลักษณะแบบเพศชาย
“ที่นิวยอร์กมันจะมีความหลากหลาย ที่แบบหลากหลายจริงๆ ที่แอลเอ (ลอสแอนเจลิส) ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง รัฐอื่น ๆ ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง อย่างเช่น การยอมรับนางแบบที่มีความเป็น masculine หรือ นายแบบที่มีความเป็น feminine เรื่อง diversity (ความหลากหลาย) มันกว้างมากค่ะ"
สร้างประวัติศาสตร์กับ Project Runway
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้วงการแฟชั่นในอเมริกาจะการเปิดกว้างแต่ก็ยังมีการกีดกัดทางเพศสภาพแฝงอยู่ โดยมีมี่ยกตัวอย่างถึงประสบการณ์ครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นบนรันเวย์ระดับโลกอย่าง New York Fashion Week
“ตอนนั้นไปแคสกับดีไซเนอร์เกาหลี เหมือนเค้าก็รู้ว่าเราเป็น trans (บุคคลข้ามเพศ) เราก็เดินไปยื่นแฟ้มให้เค้า แล้วก็เดินกลับมา เพื่อจะมาเดินแบบโชว์ แต่พอเราหันกลับไป เค้ามองหน้ากันแล้วก็เบะปาก อะไรอย่างนี้ เราก็ hurt (เจ็บปวด) นะ เราก็คิดว่า โอเค ไม่เป็นไร เธอไม่ชอบชั้น มีอีกหลายแบรนด์ที่ชั้นรอชั้นอยู่”
ซึ่งสิ่งที่รอมีมี่อยู่นั้นก็คือก้าวสำคัญในวงการแฟชั่นระดับโลก โดยใน ปี พ.ศ.2561 เธอได้รับเลือกเป็นนางแบบข้ามเพศคนแรกในรายการ Project Runway ซึ่งเป็นเรียลิตี้โชว์แฟชั่นชื่อดังของสหรัฐฯ ที่เปิดโอกาสให้ดีไซเนอร์เข้ามาแข่งขันออกแบบเสื้อผ้าภายใต้โจทย์ต่าง ๆ ที่แตกต่างกันไปในทุกสัปดาห์
ผลกระทบของโควิด-19 ต่อวงการแฟชั่นในสหรัฐฯ
รายการ Project Runway ฤดูกาลที่ 17 ออกอากาศเมื่อเดือนมีนาคมเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งก็เป็นช่วงที่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดในสหรัฐ มีมี่เล่าว่า ตัวเธอเองและหลาย ๆ คนไม่ทันตั้งรับผลกระทบของโควิด-19 ต่ออุตสาหกรรมแฟชั่นในนครนิวยอร์ก
“อย่างเช่น New York Fashion Week ปีที่แล้วเนี่ย โควิดก็เริ่มจะมาแล้ว แต่ยังไม่มีการปิดเมือง ยังไม่มี quarantine (การกักตัว) ซึ่งซีซั่นที่แล้วก็เดินแบบปกตินะ จนมีความไม่ปกติเกิดขึ้นมาเมื่อตอนบินไปเดิน LA Fashion Week ซึ่งแบบทุกอย่างเตรียมพร้อมหมดแล้ว อีกสองสามวันงานจะเริ่ม ปรากฏว่ารัฐบาลประกาศปิดเมืองในแคลิฟอร์เนีย ทุกอย่างเลยถูกแคนเซิลหมดเลย”
อย่างไรก็ตาม ต่อมาห้องเสื้อต่าง ๆ ได้ปรับตัวให้เข้ากับการระบาดของโควิด-19 ดังจะเห็นได้จากการที่งานแฟชั่น New York Fashion Week ฤดูกาลล่าสุดที่ผ่านมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ได้มีการจัดแฟชั่นโชว์แบบดิจิตอล ให้ผู้ชมดูการเดินแบบผ่านช่องทางออนไลน์
“พอเข้าไปปุ๊บ ทุกคน ทุกอย่างคือจะเป็นแบบ new normal (ความปกติใหม่) จริงๆ ไม่ใช่การเดินแบบเดิมที่มีคนมานั่งดู แต่จะเป็นแฟชั่นโชว์แบบดิจิตอล ดิจิตอลก็คือให้เราถ่ายเป็นวีดีโอไว้ ในเซ็ททุกคนต้องใส่หน้ากากหมด แต่ถึงเวลาถ่าย ก็จะถอดหน้ากากออกแล้วก็ถ่าย ถ่ายเป็นสตูดิโอใหญ่ ๆ ถ่ายตอนเดิน ไม่มีใครนั่งดู”
การได้รับเลือกเป็นทูตลดความเลื่อมล้ำขององค์การสหประชาชาติ
นอกจากบทบาทในวงการแฟชั่น มีมี่ เทา ยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตขององค์การสหประชาชาติ หรือ United Nations ภายใต้โครงการ "ทูเกเธอร์แบนด์" หรือ #TogetherBand เพื่อช่วยรณรงค์ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
“สำหรับ TogetherBand นะค่ะ จะเป็นการดำเนินตามเป้าของ Global Goals ซึ่งจะมี 17 เป้าหมาย สำหรับมีมี่ก็จะเป็นตัวแทนเป้าหมายที่ 10 นั่นก็คือ reduce inqualities คือความเลื่อมล้ำ ซึ่งในเมืองไทยนี่ก็จะมีความเลื่อมล้ำเยอะ เช่น ความเลื่อมล้ำด้านการศึกษา ความเลื่อมล้ำทางเพศ ความเลื่อมล้ำของคนรวยและคนจน ชนชั้น มันจะมีเยอะมาก ซึ่งเขาก็จะคัดเลือก celebrities (ผู้ที่มีชื่อเสียง) ทั่วโลกมาเป็น ambassador (ทูต) เช่น นาโอมิ แคมเบล หรือ เดวิด เบ็คแฮม”
เคล็ดลับในการประสบความสำเร็จ
ในวัย 28 ปี มีมี่ เทา สรุปว่าการเตรียมตัวและสภาพจิตใจให้พร้อมกับสภาวะต่าง ๆ ที่ไม่สามารถกำหนดได้นั้น เป็นเคล็ดลับอย่างหนึ่งที่ช่วยให้เธอฝ่าฟันอุปสรรคและประสบความสำเร็จได้ทุกวันนี้ เธอยังย้ำว่าความพร้อมต้องมาจากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาษา ร่างกาย และ สภาพจิตใจ เพราะวงการแฟชั่นมีการแข่งขันกันสูงมาก ซึ่งนักออกแบบเสื้อผ้าจะคัดเลือกนางแบบหรือนายแบบที่พร้อมที่สุดเท่านั้น
“มี่ต้องบอกว่านางแบบทั่วโลกอยากมา New York Fashion Week หมดแหละ ซึ่งทุกคนสวยหมด ทุกคนมีเอกลักษณ์ ทุกคนมี personality (บุคลิก) ของตัวเองหมด เราจะทำยังไงให้เราโดดเด่น”
สำหรับแผนการในอนาคต มีมี่บอกวีโอเอไทยว่าเธออยาจะลองทำอาชีพนักแสดง ซึ่งตอนนี้เธอได้เริ่มลงเรียนการแสดง และก็เริ่มฝึกพูดภาษาอังกฤษเป็นสำเนียงอเมริกันด้วย
“มี่คิดว่ามันเป็นอีก challenge (ความท้าทาย) หนึ่งที่ค่อนข้างจะท้าทายในชีวิต เพราะว่ามีมี่เคยทำงานทุกอย่าง ตั้งแต่แจกใบปลิว ทำงาน wedding studio (สตูดิโองานแต่งงาน) ตัดเสื้อผ้า คาบาเร่ต์โชว์ เป็นนางแบบ แต่การเป็นนักแสดงเป็นอีกอย่างที่อยากลองทำ”